พระเครื่อง ความเชื่อ และศรัทธา ความเชื่อและศรัทธา เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษา มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ฉะนั้นจึงปรากฎว่า มีรูปลักษณ์เครื่องรางต่าง ๆ อยู่คู่กับมนุษย์มา ทุกยุคทุกสมัย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบำรุงขวัญ และกำลังใจ บางครั้งคนที่อยู่ในที่คับขัน อยู่ในระหว่างอันตราย เมื่อนึกถึงสิ่งที่ตนศรัทธา และยึดมั่น เป็นที่พึ่ง ก็ทำให้มีสติมีความมุ่งมั่น ที่จะต่อสู้ฝ่าฟัน ให้พ้นอุปสรรค และอันตราย และด้วยกำลังใจที่เกิดขึ้น ทำให้บรรลุถึงความสำเร็จ ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนอยู่ในสมัยใด จึงชอบที่จะมีเครื่องรางไว้สำหรับตัว
ครั้นเมื่อมนุษย์มีศาสนาเป็นเครื่องนำทางชีวิต ความเชื่อและศรัทธา ที่มีอยู่แต่เดิม ก็พัฒนาเป็นสัญลักษณ์ มีรูปแบบที่เป็นศิลปะมากขึ้น กล่าวเฉพาะ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่างนิยม ไปบูชายังสถานที่ พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ได้พากันไปปีละมาก ๆ บรรดาพุทธศาสนิกชน ที่ไปยังสังเวชนียสถานดังกล่าว ก็ชอบหาสิ่งที่เป็นปูชนียวัตถุ นำกลับไปบูชา ที่บ้านเมืองของตน พวกชาวเมือง ที่อยู่ในเจดียสถานนั้น ๆ จึงได้คิดทำพระพิมพ์ขึ้น สำหรับจำหน่าย ในราคาที่ไม่แพง ปรากฎว่า มีผู้นิยมยินดีซื้อหากันทั่วไป การสร้างพระพิมพ์ จึงได้มีแพร่หลายมากขึ้น
ส่วนการสร้างพระพิมพ์ ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมไม่มีความประสงค์ จะสร้างเพื่อจำหน่าย เหมือนดังกล่าวข้างต้น พุทธศาสนิกชนคนไทย สร้างพระพิมพ์ขึ้น เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้ถาวร จึงสร้างพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก ฝังไว้ในพระเจดีย์ โดยถือว่า เมื่อพระเจดีย์ล้มสลาย หายสูญไปแล้ว ภายหลังมีใครไปขุดพบพระพิมพ์ ที่สร้างไว้ ก็จะได้รู้ว่า พระพุทธศาสนา เคยประดิษฐานในที่นั้น เป็นเหตุให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณสืบต่อไป
ภายหลังผู้ที่สร้างพระพิมพ์ เป็นผู้ที่บำเพ็ญตบะมีพลังจิต ได้คิดสรรหาวัตถุ ที่เป็นมงคล มาทำพระพิมพ์ และอธิษฐานจิต แผ่พลังให้สถิตอยู่ในพระพิมพ์นั้น ๆ ครั้นเมื่อมีเหตุร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือเกิดศึกสงคราม คนทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา ระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง ก็หาพระพิมพ์ขนาดเล็ก ติดต้วไว้ ทำให้เกิดขวัญกำลังใจ จึงเกิดศรัทธา เชื่อถือเป็นพระเครื่อง สำหรับคุ้มครองให้พ้นจากภยันตรายต่อมา แม้ไม่ได้มุ่งหวัง ในเรื่องคงกะพันชาตรี แต่พระเครื่องที่สร้างขึ้น เป็นสัญลักษณ์ แทนพระพุทธเจ้า และสร้างจากสิ่งที่เป็นมงคล ผู้ที่เคารพกราบไหว้ และปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธองค์ ก็ย่อมเกิดสิริมงคล แก่ตนเองเช่นเดียวกัน
พระเบญจภาคี หมายถึง พระเครื่องชุดหนึ่งประกอบด้วยพระจำนวน ๕ องค์ โดยมี พระสมเด็จวัดระฆัง โฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน พระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก, พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี, พระลีลา จังหวัดกำแพงเพชร และพระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน แต่เนื่องจากพระกำแพงลีลาหาได้ยากมากขึ้น จึงได้พระกำแพงซุ้มกอ จังหวัดกำแพงเพชรมาแทน ผู้ที่จัดพระชุดเบญจภาคีคือ ตรียัมปวาย นี้เองที่ได้จัดทำทำเนียบชุดพระเครื่อง เบญจภาคี ขึ้นในปี ๒๔๙๕ โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง ไตรภาคี คือมีเพียง ๓ องค์เท่านั้น อันประกอบด้วย พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นองค์ประธาน ซ้าย-ขวา เป็นพระนางพญา (พิษณุโลก) และพระรอด (ลำพูน) หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ผนวก พระซุ้มกอ (กำแพงเพชร) และ พระผงสุพรรณ (สุพรรณบุรี)
จนกลายเป็นชุดพระเครื่อง ที่เป็นสุดยอดปรารถนา ของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย ผู้ที่มี่ตำแหน่งหน้าทีสูง มักจะมีพระเครื่องชุดนี้ โดยเฉพาะสมเด็จวัดระฆัง เป็นพระเครื่องชั้นสูงสุด เป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง เป็นพระที่มีผู้ต้องการแสวงหามากที่สุด เป็นพระที่มีพระพุทธคุณสูงที่สุด มีการปลอมแปลงมากที่สุด ราคาเช่าแพงที่สุดหลายล้านบาท ทุกคนอยากได้เป็นเจ้าของ กล่าวกันว่าโอกาสที่จะได้ชุดเบญจภาคีที่แท้ๆ ต้องมีวาสนาและบารมีประกอบกันด้วย มีแต่เงิน แต่ขาดวาสนา หรือบารมี ก็อาจได้ของปลอมมาก็ได้กระมัง
พระสมเด็จวัดระฆัง |
พระรอดวัดมหาวัน |
พระซุ้มกอ |
พระผงสุพรรณ |
พระนางพญา |
พระเครื่อง ข้อมูลพระเกจิ พระเครื่อง
|
พระพิฆเนศ คาถาบูชาพระพิฆเนศ พระพิฆเนศปางต่างๆ พระพิฆเนศ » |