สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกติดกับติมอร์-เลสเต และปาปัวนิวกินี และทิศใต้ติดกับทะเลติมอร์
พื้นที่ พื้นที่ทางบก 1,904,443 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร (รวมพื้นที่ทั้งหมด 5,070,606 ตารางกิโลเมตร)
เมืองหลวง กรุงจาการ์ตา
ประชากร 248 ล้านคน (2553)
ภาษาราชการ ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)
ศาสนา อิสลามร้อยละ 85.2 คริสต์นิกายโปรแตสแตนร้อยละ 8.9 คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 3 ฮินดูร้อยละ 1.8 พุทธร้อยละ 0.8 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.3
การเมืองการปกครอง
ประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Dr. Susilo Bambang Yudhoyono)
ผู้นำรัฐบาล ดร. ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Dr. Susilo Bambang Yudhoyono) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 (สมัยที่ 2)
รัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. อาร์ เอ็ม มาร์ตี้ มูเลียนา นาตาเลกาวา (Dr. R. M. Marty Muliana Natalegawa) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552
ระบอบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2552
เขตการปกครอง30 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 4 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา เมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดอาเจะห์ และ จังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตก
วันชาติ 17 สิงหาคม
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 7 มีนาคม 2493
เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา รูเปียห์ (1,000 รูเปียห์ ประมาณ 3.21 บาท)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 928.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 4,944 ดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.3
สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณพ์อาหาร
สินค้าส่งออกสำคัญ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้ เสื้อผ้า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๓ และครบรอบ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ๒๕๕๓ ปัจจุบัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา คือนายภาสกร ศิริยะพันธุ์ และเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย คือ นายลุตฟี ราอุฟ
กลไกความร่วมมือหลัก ได้แก่ (๑) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย – อินโดนีเซีย (Joint Commission Meeting between the Kingdom of Thailand and the Republic of Indonesia :JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม โดยอินโดนีเซียจัดการประชุม JCครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑ – ๒ กันยายน ๒๕๕๓ และ (๒) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม โดยอินโดนีเซียจัดการประชุม HLC ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่กรุงจาการ์ตา
อินโดนีเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยทั้งในกรอบอาเซียนและในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ท่าทีของอินโดนีเซียเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมมีผลต่อท่าทีของประเทศมุสลิม โดยเฉพาะในกรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งที่ผ่านมา อินโดนีเซียสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของ รัฐบาลและช่วยอธิบายให้ประเทศมุสลิมอื่น ๆ เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในปี ๒๕๕๕ มีการเยือนที่สำคัญได้แก่ (๑) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) on East Asia ๒๐๑๒ ครั้งที่ ๒๑ ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ (๒) นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ ๕ ที่บาหลีระหว่างวันที่ ๗ – ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ และ (๓) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอินโดนีเซียระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้า
อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ ๒ ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทยในโลก ในปี ๒๕๕๔ มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เท่ากับ ๑๗,๔๕๔ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้า ๗,๓๗๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก ๑๐,๐๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐไทยได้ดุลการค้า ๒,๗๐๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๕๕ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเท่ากับ๑๙,๒๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย ๘,๐๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก๑๑,๒๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า ๓,๑๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รถยนต์นั่ง
ไทยกับอินโดนีเซียได้ลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยความตกลงฯ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียผ่านคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียเป็นประธานร่วม
ไทยกับอินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่บาหลี โดยข้อตกลงฯ ดังกล่าว
เป็นการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวฉบับเก่าซึ่งหมดอายุไปเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งระบุว่ารัฐบาลไทยจะจำหน่ายข้าวขาวร้อยละ ๑๕ – ๒๕ ในปริมาณไม่เกิน ๑ ล้านตันต่อปี ระหว่างปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ให้แก่รัฐบาลอินโดนีเซีย[๑]
การลงทุน
ในปี ๒๕๕๕ ไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับที่ ๑๕ ในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุน ๖๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๒ พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก พื้นที่ที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่ ได้แก่ เกาะสุมาตราใต้และเกาะชวาตะวันตก โดยบริษัทไทยขนาดใหญ่ ๆ ที่เข้าไปลงทุน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย บ้านปู ธนาคารกรุงเทพ ลานนาลิกไนต์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ในปี ๒๕๕๕ อินโดนีเซียเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ ๓ ของไทยในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีการลงทุนในไทยจำนวน ๑ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๑.๔๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (๔๓ ล้านบาท)ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ด้านประมง
ไทยและอินโดนีเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๕ หมดอายุลงเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ ทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ (ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙)
ด้านพลังงาน
อินโดนีเซียมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนไทยหลายรายเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในอินโดนีเซีย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการร่วมทุนในโครงการท่อก๊าซ East-West Java กับบริษัท Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย บริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) สำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน ๕ แหล่ง ที่ Semai II, South Malundar, Malundar Block, Sadang และ South Sageri บริเวณ Makassar Strait นอกชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะสุลาเวสี และประสงค์ที่จะไปสำรวจก๊าซธรรมชาติในแหล่ง East Natura ทะเล Natura ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลอินโดนีเซีย และบริษัทบ้านปูทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในกาลิมันตันตะวันออกและกาลิมันตันใต้ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ Indominco ,Katidin- Embalut ,Kitadin-Tandung Mayang,Jorong,Trubaindo และ Bharinto ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนการขยายการลงทุนในอินโดนีเซียในช่วง ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ จำนวน ๑๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยและอินโดนีเซียมีกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน ได้แก่ Indonesia – Thailand Energy Forum (ITEF) [๒] ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม ITEF ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยได้หารือเกี่ยวกับ (๑) ความร่วมมือด้านก๊าซ น้ำมัน ก๊าซมีเธนในชั้นถ่านหิน (๒) ความร่วมมือ ด้านไฟฟ้า ถ่านหิน และแร่ธาตุ (๓) ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน พลังงานใหม่ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (๔) การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน และ (๕) ประเด็นอื่น ๆ (โอกาสการวิจัยร่วม การพัฒนาพลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน) และในปี ๒๕๕๖ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ITEF ครั้งที่ ๔ ที่เมืองบาหลี ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ด้านการเกษตร
ไทยและอินโดนีเซียมีคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร (Joint Agricultural Working Group Indonesia – Thailand : JAWG) ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JAWG ครั้งที่ ๕ ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร และโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังมีกรอบการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group Meeting : EGM) ซึ่งไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม EGM ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร การวางแผนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว โดยกำหนดให้มีการประชุมทุก ๒ ปี ทั้งนี้ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JAWG ครั้งที่ ๖ ในปี ๒๕๕๖
การท่องเที่ยว
ในปี ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปอินโดนีเซียจำนวน ๘๙,๑๔๒ คน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๗ จากปีก่อนหน้า ในขณะที่นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยมีจำนวน ๔๔๘,๗๔๘ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒ จากปี ๒๕๕๔