สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง
ทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
เมืองหลวง กรุงมะนิลา
ประชากร 98 ล้านคน
ภูมิอากาศ อากาศเมืองร้อน
ภาษา ฟิลิปิโน และอังกฤษเป็นภาษาราชการ
ศาสนา โรมันคาธอลิกร้อยละ 83 โปรเตสแตนท์ร้อยละ9 มุสลิมร้อยละ 5
หน่วยเงินตรา เปโซ (1 เปโซ ต่อ 0.70 บาท/ เม.ย. 2556)
ผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 250.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) 4,096 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.6 (2555)
การเมืองการปกครอง
1. การเมืองการปกครอง
1.1 ฟิลิปปินส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในรูปแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 1 วาระ วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ (nationwide elected) มีวาระ 6 ปี และรัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาจำนวนครึ่งหนึ่ง (12 คน) ทุก 3 ปี
1.2 ฟิลิปปินส์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 เขต (region) 80 จังหวัด (province) และ 120 เมือง (city) โดยแบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 1,499 เทศบาล (municipality) และ 41,969 บารังไก (barangay) ซึ่งเทียบเท่าตำบลหรือหมู่บ้าน
1.3 ฟิลิปปินส์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวม 17,996 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดยนายเบนิกโน เอส อาคีโน ที่สาม (Benigno S. Aquino III) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากพรรค Liberal (LP) และนายเจโจมาร์ บิไน (Jejomar Binay) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมากาติ (Makati) ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี
1.4 รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี อาคีโน ที่สาม มุ่งให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบบริหารประเทศเพื่อปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและขจัดความยากจน จึงได้รับความนิยม จากประชาชนและมีสถานะความมั่นคงทางการเมืองสูง ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานกฎระเบียบด้านงบประมาณ การปรับปรุงระบบข้าราชการพลเรือน และการปรับปรุงระบบการศึกษา ส่วนประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลฟิลิปปินส์เน้นการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคติดต่อ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และการสร้างพลังประชาคมระหว่างประเทศในทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals MDG) ภายในปี 2558