5 พฤติกรรมสุดอันตรายขณะขับรถด้วยความเร็วสูง
1.จับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียว
หลายคนอาจต้องการความผ่อนคลายมากขึ้น จึงใช้วิธีจับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียว ซึ่งหากเป็นการขับรถในเมืองสามารถทำได้ไม่มีปัญหา แต่หากจำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง การจับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียวจะลดประสิทธิภาพการควบคุมพวงมาลัยหากจำเป็นต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางกะทันหัน ในกรณีรถตกหลุมหรือจั๊มพ์คอสะพานอย่างแรง อาจควบคุมพวงมาลัยไม่อยู่ จนรถเกิดการเสียหลักได้
ทางที่ดีควรจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นท่ามาตรฐานที่ทำให้อุ้งมือล็อคอยู่กับก้านพวงมาลัย ช่วยลดอาการสะบัดของพวงมาลัยในกรณีตกหลุมหรือจั๊มพ์คอสะพานได้
2.จับพวงมาลัยเบาเกินไป
แม้ว่าจะจับพวงมาลัยอย่างถูกวิธีแล้ว แต่หากจับพวงมาลัยด้วยน้ำหนักมือเบาเกินไป ก็อาจเสี่ยงต่ออาการพวงมาลัยหลุดมือได้เช่นกัน โดยเฉพาะเวลาที่ล้อรถเกิดตกหลุมหรือวิ่งผ่านแอ่งน้ำ อาจทำให้รถเสียหลักได้ ดังนั้นจึงควรใช้น้ำหนักกำพวงมาลัยอย่างพอดี ไม่น้อยจนเกินไป
3.เปลี่ยนเลนหรือหักหลบอย่างรวดเร็ว
การเปลี่ยนเลนกะทันหันพบได้บ่อยโดยเฉพาะวัยเพิ่งเริ่มขับรถ ที่มักมีความคึกคะนองมากเป็นพิเศษ ซึ่งหากเปลี่ยนเลนกะทันหันขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง อาจทำให้รถเสียการควบคุมได้ง่าย และยังรวมไปถึงกรณีหักหลบสิ่งกีดขวางบนท้องถนน เช่น หลุม, ฝาท่อ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่ควรอยู่บนพื้นผิวถนน หากหักพวงมาลัยด้วยความรวดเร็วและรุนแรงมากเกินไป ก็อาจทำให้รถเสียหลักได้เช่นกัน
4.ขับรถจี้คันหน้ามากเกินไป
การเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าน้อยเกินไป เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมานักต่อนักแล้ว สาเหตุเนื่องจากเบรกไม่ทัน แถมยังเสี่ยงให้รถถูกชนท้ายต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ อีกด้วย ทั้งนี้ การขับรถด้วยความเร็วสูงควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 2 วินาทีขึ้นไป โดยเริ่มนับศูนย์จากจุดที่คันหน้าเคลื่อนผ่าน จากนั้นให้เว้นระยะห่างประมาณ 2 วินาที ก่อนที่รถของเราจะเคลื่อนผ่านจุดนั้นไป
ในกรณีที่ถนนลื่น ควรเว้นระยะห่างเพิ่มขึ้นเป็น 3 วินาทีเป็นอย่างน้อย เนื่องจากรถจะใช้ระยะเบรกมากขึ้นกว่าปกติ
5.สายตาวอกแวก ไม่มองทางข้างหน้า
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการขับขี่ด้วยความเร็วสูง คือ สายตาจะต้องโฟกัสสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้าตลอดเวลา เพราะเหตุการณ์ต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที หากมัวใจจดใจจ่อกับการเลือกเพลงโปรด หรือหันหน้าคุยกับเพื่อน อาจทำให้ตัดสินใจควบคุมรถได้ไม่ทัน
Leave a Reply