ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ยกทัพมาปราบปรามขับไล่ข้าศึกพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ไม่สำเร็จเด็ดขาด
ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี
พ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ
ให้เผาเมืองเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมือง 23,000 ครอบครัว แบ่งเป็น
5 ส่วน โดยให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน เมืองเวียงจันทน์
และลงมายังกรุงเทพฯ บางส่วนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ เมืองสระบุรี เมืองราชบุรี
บ้าง หลังจากที่ได้กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองให้ไปอยู่ตามเมืองต่าง
ๆ แล้ว เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง จึงทำให้นับแต่นั้นมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองเชียงแสนได้ขาดหายไประยะหนึ่ง
ส่วนใหญ่แล้วมักจะกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของล้านนาในยุคนั้น
โดยมีตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครอง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการทำศึกสงครามกับพม่า
บางครั้งก็ถูกพม่ารุกราน บางครั้งก็ยกทัพไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่าและกวาดต้อนเอาผู้คนลงมาด้วย
อันได้แก่ พวกไทยใหญ่ ไทยเขิน เป็นต้น
พ.ศ.
2386 ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายฟื้นคืนให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่
เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ป้องกันภัยจากพม่าโดย มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่
พระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ญาติพี่น้อง อันมีเจ้าหลวงธรรมลังการเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย
เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยง
เป็นพระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ มีราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองขึ้นของพม่า
ในสมัย เก็บผักใสซ้า เก็บข้าใส่เมือง พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมือง
4 เมือง คือ เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ
1,000 ครอบครัวขึ้นมาตั้งสร้างบ้านเมือง เมืองเชียงรายในยุคนี้ได้มีการก่อกำแพง
สร้างประตูเมืองต่าง ๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เคยเป็นเมืองเก่ามาแต่สมัยพญามังรายให้เป็นเมือง
พันธุมติรัตนอาณาเขต มีสะดือเมืองอยู่ที่วัดจันทโลก (ปัจจุบันคือวัดกลางเวียง)
ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่มีชื่อว่า เมืองรัตตนติงสาวภิวนบุรี การปกครองเมืองเชียงรายในฐานะเป็นเมืองบริวาร
ของเมืองเชียงใหม่ในสมัยนี้ เป็นยุคที่เรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ ซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่มาเป็น
คณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง (มีฐานะเป็นเจ้าเมือง)
และผู้ช่วยอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร
พระยาบุรีรัตน์
พ.ศ.
2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ
ว่า พม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง ประมาณ 300 ครอบครัว มาอยู่เมืองเชียงแสนตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย
จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่
แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิไชยยานนท์
เจ้านครเชียงใหม่เกณฑ์กำลังจากเชียงใหม่ นครลำปาก เมืองลำพูน มีไพร่ทั้งสิ้น
4,500 คน ยกจากเชียงใหม่มาเชียงรายและเชียงแสน ไล่ต้อนพวกนั้นออกจากเชียงแสน
จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2423
จึงได้ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องของเจ้ากาวิละ
เจ้านครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน เป็นหัวหน้า นำราษฎรเมืองลำพูน
เชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก ปักซั้งตั้งถิ่น
อยู่เมืองเชียงแสน นับเป็นการ สร้างบ้านแปงเมือง ครั้งใหญ่ของเมืองเชียงแสน
กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกได้มาตั้งถิ่นฐาน ทำกินอยู่เรียงรายตามลำแม่น้ำแม่คำ
ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก จนถึงเขตเชียงแสน ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง
ในเขตประเทศลาวปัจจุบัน
ต่อมา
เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงแสน
สมัยนั้นการปกครองล้านนาเฉพาะมณฑลพายัพเหนือ มีเจ้าเมืองบริเวณหัวเมืองมี
5 ชื่อ ประจำเมืองต่าง ๆ คือ
พระยาประเทศอุตรทิศ
เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา
เจ้าเมืองฝาง
พระยารัตนเขตต์
เจ้าเมืองเชียงราย
พระยาราชเดชดำรง
เจ้าเมืองเชียงแสน
พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี
เจ้าเมืองเชียงของ
ใน
พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้
พระศรีสหเทพ (เส็ง วิริยสิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพใหม่ เมืองใหญ่มี
เก๊าสนามหลวง เป็นศูนย์กลางจัดให้มีแคว่นแก่บ้าน (กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน)
แต่ละแคว่นขึ้นกับเมือง เรียกผู้ปกครองเมืองว่า เจ้าเมือง เมืองขึ้นกับ
บริเวณ เรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า ข้าหลวงบริเวณ ข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเก๊าสนามหลวง
โดยได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ
ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล และเมืองเชียงแสนสมัยนั้นขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม
ต่อมา พ.ศ. 2453 ตรงกับ ร.ศ. 129 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงราย
เป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลพายัพ ดังต่อไปนี้
ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นหัวเมืองจัตวา
รวมอยู่ในมณฑลพายัพ
มีพระราชดองการดำรัสเหนือเกล้าฯ
ให้ประกาศทราบทั่วหน้ากันว่า แต่เดิมเมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า
เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ
อำเภอเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดพายัพภาคเหนือ
ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้เห็นว่า การจัดให้เป็นเมือง
ไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรเลื่อนการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องถิ่น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง
เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย
อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองเชียงราย
อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย
อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา
อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ
เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพฯทั้งปวง และพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพภาคเหนือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป
ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประกาศ ณ วันที่ 9 มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก 129
(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มีตราประจำเมืองเป็น รูปหนุมาน (หอระมาน)
|
ดวงตราประจำเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต
คือเมืองเชียงรายในอดีต ที่แปลมาตรงกับตัวอักษรล้านนา(ตัวเมือง)
ในดวงตรานั้น ส่วนอักษรไทยข้างล่างเขียนว่า เมืองพันธุมติอะณาเขรษ
เป็นการสะกดผิด เนื่องจากการทำตราต่าง ๆ ในสมัยนั้นต้องส่งไปทำต่างประเทศที่ใกล้ที่สุด
คือประเทศอินเดีย ชื่อเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขตเลยต้องใช้อย่างนั้นมา
แต่คนเชียงรายในสมัยนั้นอ่านภาษาไทย(กลาง)ไม่ออก
สภาพบ้านเมืองในยุคพันธุมติรัตนอาณาเขตนั้น
ได้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับกบฎเงี้ยว ซึ่งได้เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง
ๆ ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นผลมาจากยุคการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก
ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนพม่าและลาว และต่อมาได้มีการยุยงสนับสนุนให้เงี้ยวก่อความไม่สงบขึ้นตามหัวเมืองต่าง
ๆ เพื่อที่จะขยายอิทธิพลเข้ามายังล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยแล้ว
แต่ทางการก็สามารถปราบปรามลงได้
ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต
ได้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองจากหัวเมืองที่มีเจ้าเมืองครองมาจนถึง
พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) จึงได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล
อันเป็นต้นแบบมาสู่การปรับปรุงพัฒนามาสู่ในยุคปัจจุบันที่มีฐานะเป็นจังหวัด
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ
ความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่าง ๆ
นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลวจังกราช ได้ให้พระโอรสไปสร้างและครองเมืองต่าง
ๆ จึงทำให้มีการกระจายเชื้อพระวงศ์ออกไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วย อันเป็นการขยายอาณาเขตในลักษณะหนึ่งมาจนถึงสมัยพญามังราย
จึงได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นศูนย์กลาง
เมื่อมีความเป็นปึกแผ่นแล้ว ต่อมาจึงได้ขยายลงมาสร้างเมืองเชียงราย
เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอาณาเขตต่อไปยังอาณาจักรอื่น ๆ
รวมทั้งการมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง อาณาจักรต่าง ๆ เหล่านี้
ได้แก่
อาณาจักรหริภุญไชย
อาณาจักรหริภุญไชยได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยการสร้างเมืองเชียงราย
โดยเป็นศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง
ซึ่งตำนานจามเทวีได้กล่าวว่าฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้น
เมื่อราว พ.ศ. 1310 - 1311 หลังจากที่ได้สร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเชิญพระนางจามเทวี
ธิดาของกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมือง จึงทำให้วัฒนธรรมของละโว้แพร่ขยายมายังอาณาจักรหริภุญไชยด้วย
ด้วยเหตุอาณาจักรหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์
พญามังรายมีพระประสงค์อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงได้ใช้กลอุบายให้อ้ายฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึก
วางแผนให้เกิดความแตกแยกกันในอาณาจักร ในภายหลัง กองทัพของพญามังรายจึงเข้ายึดอาณาจักรหริภุญไชยจากพระยายีบา
กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จ ในปี
พ.ศ. 1835 และได้ผนวกหริภุญไชยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อาณาจักรสุโขทัย
หลังจากที่พญามังรายได้แผ่ขยายอาณาเขตและรวบรวมบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นที่มาของ
อาณาจักรล้านนา แล้ว จึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่หรือ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ขึ้นใน พ.ศ. 1839 เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ในการสร้างเมืองนั้น
พระองค์ทรงได้ทูลเชิญพ่อขุนรามคำแหงจากกรุงสุโขทัยและพญางำเมือง
เจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นพระสหาย ให้เสด็จมาช่วยเลือกชัยภูมิการสร้างเมือง
จึงเห็นได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้มีสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแนบแน่น
ในตำราราชวงศ์ปกรณ์กล่าวว่า กษัตริย์ทั้งสามได้ตั้งสัจจะปฏิญาณต่อกัน
โดยนั่งหลังพิงกันที่ฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วเอามีดมาแทงมือกันทุกคน
เอาเลือดใส่แพ่งฝา สู่กันกิน ให้เป็นมิตรสนิทต่อกันทุกพระองค์ ต่อมาแม่น้ำขุนภูจึงเรียกว่า
แม่น้ำอิง ในปัจจุบันนี้ได้มีอนุสรณ์สถานคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลาง (เก่า) จังหวัดเชียงใหม่
อาณาจักรล้านนา
สมัยหิรัญนครเงินยาง
อาณาจักรล้านนามีความเป็นมาหลังจากที่พญามังรายได้รวบรวมหัวเมืองต่าง
ๆ อันมีเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นในอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง
ต่อมาได้ตีอาณาจักรหริภุญไชยแล้วผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรด้วย นับเป็นการเริ่มต้นของอาณาจักรใหม่
ที่ต่อมาเรียกว่า อาณาจักรล้านนา ภายหลังได้มีการย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรไปอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ทำให้เมืองเชียงรายซึ่งเดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหิรัญนครเงินยางได้ลดความสำคัญลงไปในระยะหลัง
ๆ
สมัยรัตนโกสินทร์
อาณาจักรล้านนาได้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับพม่า
โดยนำกำลังร่วมกับกองทัพทางกรุงเทพฯ ทำสงครามกับพม่าในระหว่าง พ.ศ.
2312 - 2347 สงครามในระยะดังกล่าวนี้ได้เกิดลัทธิ เก็บผ้าใส่ซ้า
เก็บข้าใส่เมือง ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองเชียงตุง สิบสองปันนา
ฯลฯ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ชาวไทยลื้อ
และชาวไทยเขิน ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงกับชาวไทยโยนกของอาณาจักรล้านนา
แล้วมาไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้เอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย
เช่น การทำเครื่องเขิน แกงฮังเล น้ำพริกอ่องของชาวไทยเขิน ขนมจีนน้ำเงี้ยวของชาวไทยใหญ่
การทอผ้าของชาวไทยลื้อ เป็นต้น
ในปัจจุบัน
กลุ่มชาวไทยลื้อหรือชาวไทยเขิน มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย
และจังหวัดในภาคเหนือ และได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้อย่างมาก
เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกิน งานหัตถกรรม เป็นต้น
|