เมื่อเกิดศึกสงครามชายไทยต้องถูกส่งออกไปทำการรบ เมื่อสำเร็จสิ้นสงครามก็กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบ ถูกปลดปล่อยอย่างกระทันหัน ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้เสียชีวิต หรือทหารที่พิการทุพพลภาพ ดังนั้น เพื่อหาทางช่วยเหลือทหารผ่านศึกเหล่านี้ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน" เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ คณะกรรมการชุดนี้ได้ปฏิบัติงาน โดยใช้สำนักงาน และเจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการทหาร (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และได้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุน จากงบประมาณของกระทรวงกลาโหม จำนวนหนึ่ง เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการเหล่านั้น เนื่องจากปริมาณงานด้านการให้ความช่วยเหลือ ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนอกประจำการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานโดยคณะกรรมการไม่รัดกุม และเหมาะสมกับเหตุการณ์ รัฐบาลจึงจัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก และครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยได้มีการร่างพระราชบัญญัติ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งถือเป็น วันทหารผ่านศึก ตลอดมา
|
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สภาทหารผ่านศึกสภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเสียใหม่ เพื่อเป็นการขยายการสงเคราะห์ ให้รวมไปถึง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งได้กระทำหน้าที่ป้องกัน หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และรวมถึงทหารนอกประจำการ ที่มิได้ผ่านศึกด้วย กับทั้งยังได้รวมมูลนิธิช่วยทหาร และครอบครัวทหาร ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี ให้เข้ามารวมเป็นหน่วยเดียว กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ดำเนินการมาหลายสิบปี ปัจจุบันมีทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ที่ต้องให้การสงเคราะห์ รวมประมาณสามล้านกว่าคน
|
สัญลักษณ์วันทหารผ่านศึก
|
"ดอกป๊อปปี้" ในทางสากลแล้วถือว่า เป็นดอกไม้ที่สื่อความหมายถึง ทหารผ่านศึกผู้พลีเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก และในประเทศไทยยังกำหนดให้เป็น สัญลักษณ์ ของวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปีอีกด้วย ซึ่งในวันนี้ดอกป๊อปปี้สีแดง จะบานสะพรั่งไปทั่วแผ่นดิน |
สำหรับประเทศไทยแล้ว การจัดทำ ดอกป๊อปปี้ เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงถึงสมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยสงครามในครั้งนั้น ทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบที่นั่นได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวง และน่าพิศมัยเกิดขึ้น ณ สมรภูมิดังกล่าว ในบริเวณหลุมฝังศพทหาร
โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เดียรดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมาดอก ป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ สำหรับประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามต่าง ๆ มาแล้วโดยมีอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติปรากฎเป็นอนุสรณ์อยู่ วีรกรรมของนักรบไทย ในการรบได้ขจรขจายไปทั่วปรากฎต่อสายตาชาวโลก ฉะนั้นเพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ดอกป๊อปปี้ เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทย เช่นเดียวกันในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึก ทหารผ่านศึกตั้งแต่ ปี ๒๕๑๑ เป็นต้นมา
ในวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ นี้ คนไทยทุกคน จะได้มีโอกาสแสดงความระลึกถึงคุณความดี และความกล้าหาญของเหล่าบรรดาวีรชนไทย ที่ยอมสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้อง เอกราชอธิปไตยของแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเรา ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้ โดยช่วยกันซื้อดอกป๊อปปี้
นอกจากนี้ องค์การทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และประชาชนให้ทำหน้าที่ดูแล ให้ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความมั่นคงของชาติ ได้กำหนดจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีแก่ทหารผ่านศึก ที่ได้ประกอบคุณงามความดีเพื่อประเทศชาติมาแล้ว โดยจะมีพิธีและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ พิธีทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนของชาติ พิธีวางพวงมาลาเพื่อคารวะดวงวิญญาณทหารผ่านศึก ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก การจัดคอนเสิร์ตเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก โดยศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงจากค่ายเพลงต่างๆ การประมูลของที่ระลึกของเหล่าดารา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าราคาถูก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมแสดงพลังแห่งความรักชาติ โดยไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่องค์การฯ จึดขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึก โดยพร้อมเพรียงกัน
ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก
ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก ได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฎิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ
- การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม
- การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือในทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ
- การสงเคาระห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ
- การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า
- ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น
กิจกรรม
เวลา ๐๘.๐๐ น. พิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เวลา ๑๐.๔๕ น. พิธีทางศาสนาพุทธ ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
เวลา ๑๕.๓๐ น. พิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานอเนกประสงค์ ร.๑๑ รอ. บางเขน กทม.
เวลา ๑๗.๐๐ น. การแสดงฟรีคอนเสิร์ตเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก
|