วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี กำหนดให้เป็น
วันภาษาไทยแห่งชาติ เนื่องด้วยตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงเสด็จฯไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ
การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทยเป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอให้รัฐบาลไทย (ชวน 2) จัดตั้งวันภาษาไทยขึ้น และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสนองพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ท่านในด้านภาษาไทย รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่างทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทย เพื่อช่วยกระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของภาษาไทยตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์เอกลักษณ์ของภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติให้คงอยู่ตลอดไป และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง งดงามยั่งยืนตลอดไป
ความเป็นมา วันภาษาไทย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่
๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ