แม่นาคพระโขนง

ภาพวาดแม่นาคพระโขนง

ภาพวาดจากนิมิตของพระอาจารย์หนู วัดสุทธาราม(วัดพระฉิม) ตอนที่พระอาจารย์อาพาธหนักนอนอยู่โรงพยาบาล ย่านาค ได้ไปช่วยรักษา จนท่านหาย ตั้งแต่นั้นมา พระอาจารย์ก็วาดภาพย่านาค เก็บไว้ที่พิพิทธภัณฑ์ ผลงานปฏิมากรรม ของท่านที่วัดฯ

เรื่องราวของแม่นาคพระโขนงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว เพราะมีหลักฐานว่าใน
สมัยรัชกาลที่ ๕ มีคนรู้จักแม่นาคพระโขนงมากกว่าบุคคลสำคัญของบ้านเมืองเสียด้วยซ้ำ

ที่กล่าวดังนี้ ก็เนื่องจาก…สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าให้หม่อมเจ้า
พูนพิศมัย ดิสกุล ฟังว่าในสมัยที่พระองค์ท่านยังเป็นนายทหารประจำ
อยู่ในพระบรมมหาราชวังนั้นมีเจ้าพี่เจ้าน้องมาประทับคุยด้วยอยู่ใกล้วัง
กับประตูบ่อยๆ ทรงเห็นมีคนเข้าออกประตูวังเนืองแน่นอยู่เสมอ ก็ทรง
คิดกันว่าน่าจะทดลอง ความรู้คนเหล่านั้นดูจึงทรงจดชื่อบุคคล ๔ คนคือ…
๑. ท่านขรัวโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี วัดระฆัง)
๒. พระพุทธยอดฟ้า (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑)
๓. จำไม่ได้ว่าใคร
๔. อีนาคพระโขนง
แล้วให้คน ไปคอยถามผู้ที่เข้าออกประตูวังทุกคนว่า ตามรายชื่อทั้ง ๔ คนนั้น รู้จักใครบ้าง

ความมีชื่อเสียงของแม่นาคได้ทำให้วัดมหาบุศย์ ริมคลองประเวศบุรีรัมย์ แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กทม. พลอยเป็นที่รู้จักของคนทั้งหลายด้วย ในฐานะเป็นวัดที่ฝังศพแม่นาค

วัดมหาบุศย์นี้ พระศรีสมโภชน์ (พระศรีสมโพธิ) เจ้าคณะวัดสุวรรณฯ เป็นผู้สร้าง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ในขณะที่ท่านยังเป็นพระมหาบุศย์

เรื่องราวของแม่นาคมีทั้งที่เป็นนิยายและภาพยนตร์ บุคคลแรกที่ทำให้ “”แม่นาคพระโขนง”” โด่งดังขึ้นมา ก็คือ…สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ พระองค์ท่านทรงนำเรื่อง ‘อีนาคพระโขนง’ ออกแสดงเป็นละครเวทีที่โรงละครปรีดาลัยจนเกรียวกราวได้รับการต้อนรับจากดูเป็นอย่างมาก จนต้องแสดงซ้ำอยู่ถึง ๒๔ คืน

ในนิยาย กล่าวถึงแม่นาคว่า…..ที่พระโขนง มีเศรษฐีสองสามีภรรยาชื่อตามั่นกับยายมี (หมี) ทั้งสองมีลูกสาวที่สวยที่สุดในย่านพระโขนง จึงมีหนุ่มๆมาติดพันหลายคน มากก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นแต่เพราะหนุ่มมากชอบประพฤติกรรมตัวเป็นนักเลงโต ตามั่นจึงพยายามกีดกันและตัดการหมั้นทองนาคให้กับเสี่ยย้งทองนาคจึงตัดสินใจหนีตามหนุ่มมาก ในวันที่เสี่ยย้งยกขบวนขันหมากมา หลังจากได้ทองนาคมาเป็นภรรยา มากก็กลับตัวเป็นคนดี ขยันขันแข็งทำมาหากิน ทั้งสองจึงอยู่กันอย่างมีความสุข ต่อมาทองนาคตั้งท้อง ก็พอดีมากถูกเกณฑ์ทหาร มากต้องไปเป็นทหาร จึงฝากลุงกับป้าชื่อตาหอยกับยายหมาให้ช่วยดูแลทองนาค(เพราะบิดามารดาของมากเสียไปแล้ว จึงต้องมาฝากลุงกับป้าให้ช่วยดูแลภรรยา) ตาหอยยายหมาเป็นห่วงหลานสะใภ้ จึงรับทองนาคไปอยู่ด้วย ทองนาคเป็นคนขยันขันแข็งถึงกำลังท้องไส้ ก็ยังช่วยหาบขนมขายทุกวัน จนกระทั่ง… กลางดึกคืนหนึ่งทองนาคเกิดเจ็บท้องจะคลอดลูก ตาหอยจึงรีบไปตามหมอตำแย(หญิงที่ช่วยทำคลอดสมัยก่อน) ชื่อยายจั่น มาทำคลอดให้ แต่ยายจั่นไม่สามรถทำอะไรได้เพราะเด็กในท้องขวางตัว และทองนาคไม่มีลมเบ่ง ในที่สุด… ทองนาคก็ขาดใจตายทั้งที่ลูกยังอยู่ในท้อง การตายลักษณะนี้เรียกว่า…..ตายทั้งกลม! ซึ่งเชื่อกันว่า ผีพวกนี้แรงทั้งแม่ทั้งลูก
ในวันฝังทองนาค นายทุย(เพื่อนของมากที่ถูกเกณฑ์ทหารด้วยกัน) ได้กลับมาบ้านที่พระโขนง และมาทันช่วยหามศพทองนาคไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุศย์ หลังจากนั้น… พอตกดึก ชาวบ้านใกล้วัดมหาบุศย์ก็จะได้ยินเสียงทองนาคเห่กล่อมลูกอยู่ที่โคนต้นตะเคียนใกล้คลอง ด้วยสำเนียงอันโหยหวน มีเสียงเด็กร้องไห้ เสียงผู้หญิงหยาดเย็นปลอบโยน ประสานด้วยเสียงหมาหอน… บรื๋อออ์!

ในตอนแรก… ทองนาคก็ไม้ได้ดุร้ายอะไรนัก จนกระทั่งลูกชายของนางไปเล่นกับเด็กวัดแล้วถูกเด็กวัดรังแกนางจึงหลอกพวกเด็กวัด ด้วยการยื่นมือยาวๆ จะจับเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำอะไรรุนแรง ทำเอาพวกเด็กวัดจับไข้กันเป็นแถว แต่รายที่ทองนาคเล่นงานอย่างจริงจังก็คือ เสี่ยย้ง เพราะเสี่ยย้งเคยปลุกปล้ำนางมาครั้งหนึ่ง นางทองนาคจึงบีบคอเสี่ยย้งจนตาย เมื่อมากกลับมาที่พระโขนง ก็พบทองนาครอรับอยู่ที่บ้าน มากจึงไม่ยอมเชื่อ เมื่อใครต่อใครบอกว่าทองนาคตายแล้ว จนตาหอยผู้เป็นลุงต้องแนะนำว่า จะเชื่อหรือไม่ ก็ให้ทดลองดู เวลานางทองนาคตำน้ำพริก ให้แอบบีบมะนาวลงไป ถ้าผีเป็นผู้ทำก็จะมีหนอน มากแอบทดลองดู ก็ปรากฏว่าในน้ำพริกมีหนอนจริงๆ แต่เขายังไม่ยอมเชื่อ กระทั่งวันต่อมา ขณะที่ทองนาคตำน้ำพริก บังเอิญทำสากหล่นลงไปใต้ถุนบ้าน (บ้านที่ทองนาคกับมากอยู่เป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง) นางก็เอื้อมมือยาวเฟื้อยลงไปเก็บสาก มากเห็นเข้า ถึงได้ยอมเชื่อว่าเมียของตนกลายเป็นผีไปซะแล้ว และหนีไปหานายทุยที่บ้าน

ทองนาครู้ว่ามากหนี ก็ตามไปที่บ้านของทุย ทุยกับมากจึงต้องพากันหนีอีก นางก็ติดตามไม่ลดละ จนทั้งสองหนุ่มวิ่งหนีฝ่าเข้าไปในดงหนาด(ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ใบใหญ่เป็นขน มีกลิ่นฉุน ใช้ทำยาได้ ถือกันว่าผีกลัว) นางจึงไม่กล้าติดตามเข้าไป แต่ยังรออยู่นอกดงหนาด แล้วเรียกเสียงเย็นๆ ว่า พี่มากขาาา……!

จนรุ่งเช้า… นางจึงจำใจจากไปเพราะกลัวแสงแดด ส่วนสองหนุ่มที่หลบภัยอยู่ในดงหนาดนั้น สมภารคงวัดมหาบุศย์ออกบิณฑบาตผ่านมาพบเข้า ก็ช่วยพากลับไปที่วัด และให้พระเณรช่วยกันวงด้านสายสิญจน์ตั้งบาตรน้ำมนต์ให้พระมานั่งล้อมมากกับทุยแล้วสวดพระปริตร ตกกลางคืนทองนาคก็มาจริงๆแต่ไม่สามารถฝ่าวงสานสิญจน์เข้าไปหามากได้ ทำให้นางโกรธมาก และเที่ยวปรากฏตัวหลอกหลอนผู้คนที่พายเรือผ่านหน้าวัด จนไม่มีใครกล้าผ่านไปแถวนั้น และชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดก็ต้องอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น พระสงฆ์องค์เจ้าพลอยเดือดร้อนไปด้วย (คงเป็นเพราะชาวบ้านย้ายหนีไปหมด เลยไม่มีใครใส่บาตร พระสงฆ์เลยลำบาก)ต้องย้ายไปอยู่วัดอื่น วัดมหาบุศย์แทบจะกลายเป็นวัดร้าง เหลืออยู่แต่สมภารคงรูปเดียว

ข่าวความดุร้ายของทองนาคเล่าลือกันไปทั่วกัน จนรู้ถึงหมอผีชื่อดังคนหนึ่งชื่อแหยม หมอแหยม พาเจ้าเปลี่ยนลูกศิษย์ทีวัดมหาบุศย์เพื่อจะปราบผีแม่ทองนาค แต่กลับถูกทองนาคหักคอตายส่วนเจ้าเปลี่ยนกลายเป็นบ้าไป แต่ในที่สุด…..ผีแม่ทองนาคก็ถูกปราบลงจนได้ โดยเณรจิ๋วซึ่งมาแต่เมืองเหนือ เณรจิ๋วได้ใช้วิชาอาคมเรียกทองนาคลงหม้อ เอาไปถ่วงน้ำได้สำเร็จ

เรื่องแม่นาคในนิยายก็จบลงเพียงเท่านี้ แต่มีคำเล่าลือบางกระแสว่า ผู้ที่ปราบผีแม่นาค ไม่ใช่เณรจิ๋ว ทว่าเป็น…สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)วัดระฆัง เล่ากันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านรู้ข่าวการอาละวาดของผีแม่นาคซึ่งก่อความหวาดกลัวและเดือดร้อนแก่ชาวบ้านแถววัดมหาบุศย์เป็นอย่างมาก แม้แต่หมอผีเก่งๆ ก็ยังพ่ายแพ้คอพับคอย่น (เพราะถูกบีบคอ) ไปหลายราย

สมเด็จฯ โตจึง มาค้างที่วัดมหาบุศย์ แต่ท่านไม่ได้ทำพิธีอะไรมากมายอย่างหมอผีทั้งหลาย เพียงพอ ตกค่ำ ท่านก็ไปนั่งที่บริเวณหลุมศพ แล้วเรียนนางนาคขึ้นมาสนทนากัน แต่ท่านจะพูดจาตกลงกับนางนาคว่าอย่างไรไม่มีใครรู้ ลือกันว่า ท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากจากศพของนางนาคขัดกระดูกแผ่นนั้นจนเกลี้ยงเป็นมันแล้วนำกลับไปยังวัดระฆัง ลงยันต์กำกับและเจาะทำเป็นหัวเข็มขัด เวลาท่านจะไปไหนก็เอาคาดเอวติดไปด้วย นับตั้งแต่นั้น ผีแม่นาคที่เคยอาละวาดที่วัดมหาบุศย์ พระโขนงก็สงบไป เมือไปอยู่ที่กุฏิสมเด็จโต เวลานั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ยังเป็นสามเณร อยู่ในกุฏินั้นด้วย ได้ถูกแม่นาครบกวน สามเณรก็ฟ้องสมเด็จฯ ว่า สีกามากวนเขาเจ้าข้า สมเด็จฯ ท่านก็ร้องปรามว่านางนาคเอ๊ยอย่ารบกวนคุณเณรซี แม่นาคก็เงียบไป แล้วนานๆ ก็ออกมาแหย่เล่นเสียครั้งหนึ่ง (แม่นาคคงจะเหงาน่ะ!) พอถูกปรามก็หยุดไป เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ครั้นสมเด็จฯ ท่านชรามากขึ้นก็มอบกระดูกหน้าผากนางนาคประทานหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ และให้สามเณร ม.ร.ว.เจริญ ไปอยู่ด้วย นางนาคยังคงเล่นสนุกเย้าแหย่สามเณรตามเคย หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ทรงกริ้วดุนางว่า… เป็นผู้หญิงยิงเรืออย่ามากวนเณร คุณเณรจะได้ดูหนังสือหนังหา นางนาคจึงเงียบไป… ต่อมา… หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งได้เป็นหม่อมเจ้า สมเด็จพระพุฒาจารย์(ทัต) ได้ประทานกระดูกหน้าผากนางนาคให้แก่หลวงพ่อพริ้ง (พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์) วัดบางปะกอก

ภายหลังหลวงพ่อพริ้ง ก็มอบกระดูกนางนาคแด่กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กระดูกนางนาคจึงไปอยู่ในซองผีที่วังนางเลิ้ง (ในเวลานี้เป็นโรงเรียนพาณิชยการพระนคร) อยู่ที่วังนางเลิ้งไม่นานเท่าไรนางนาคก็มากราบทูลลา (คงจะหมดเวรหมดกรมไปเกิดใหม่ แต่จะเกิดเป็นคนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะนางนาคอาจจะไปเกิดเป็นอมนุษย์ก็ได้และคำว่าอมนุษย์ก็ครอบคลุมกว้างมากตั้งแต่ ผี ปีศาจ ยักษ์ มาร นางไม้ เทวดา เป็นต้น หากให้สันนิษฐาน นางนาคน่าจะเกิดในระดับที่สูงกว่าผีขึ้นไป) และกระดูกนางนาคชิ้นนั้นก็อันตรธานหายไปไม่พบเรื่องราวอีกเลย เรื่องราวแม่นาคที่บางครั้งก็ดูจริงจังเกินกว่าเรื่องนิยายอย่างนี้ทำให้เกิดความคิดขึ้นสองอย่าง…. บ้างก็ยังคงเชื่อว่า เป็นเรื่องนิยาย แต่มีมากกว่าบ้าง เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง! และฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงนั้น ได้พยายามรวบรวมหลักฐานมายืนยัน เช่น…
ขุนชาญคดี (ปั่น) กำนันตำบลพระโขงสมัยนั้น ได้เล่าถวาย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พระองค์เจ้ายุคลทิฆัมพร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕) ว่า…..

นางนาคเป็นบุตรสาวของขุนศรีฯ นายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนงฝั่งตะวันตกข้างวัดมหาบุศย์ (ตามหลักฐานนี้ แม่นาคไม่ใช่ลูกสาวของตามั่นยายมีแต่อย่างไร และไม่ใช่เด็กสาวกำพร้าด้วย) และเป็นสาวสวยที่จะหาสาวใดในย่านพระโขนงมาเทียบเคียงได้ยาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เมื่อได้ทรงฟังเรื่องราวแล้ว ถึงกับรับสั่งว่า

“สวยสดงดงามถึงอย่างนั้นทีเดียวรึ มิน่าเล่าเจ้าพวกหนุ่มๆ ถึงได้ตอมกันนัก และปีศาจก็มีฤทธิ์ร้ายแรงถึงเพียงนั้น””

และหลักฐานที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ บรรณาธิการหนังสือ “สยามประเภท” ตอบข้อข้องใจของคนอ่าน ลงในหนังสือเล่มที่ ๓ วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ว่า…..
“จะเปนวันเดือนปีใดจำไม่ได้เปนคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณเล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ว่า ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่มทศกรรฐ์สามีนำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด… ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่นไม่มีปีศาลหลอกผู้ใด เปนแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่มทศกรรฐ์เปนคนมั่งมี…. บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภรรยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่…พวกลุกชายจึงทำอุบายให้คนไปขว้างปาชาวเรือ ตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเปนผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านาแลวิดน้ำกูเรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้ บุตรชายแต่งกายเปนหญิงให้คล้ายอำแดงนากมารดาทำกิริยาเปนผีดุร้ายให้คนกลัวทั่วทั้งลำคลองพระโขนง… บุตรนายชุ่มทศกรรฐ์หลายคนได้เล่าถวายเสด็จอุปชฌาย์ว่า ตนได้ทำมายาเปนปีศาจอำแดงนากมารดาหลอกชาวบ้าน จริงดั่งพระศรสมโภชกราบทูลเสด็จอุปัชฌาย์ทุกประการ” (จากหนังสือ ตามรอยนางนากพระโขนง ของ ส.พลายน้อย)

(ตามความข้างต้นนี้ สามีของแม่นาคแทนที่จะเป็นนายมากกลับเป็นนายชุ่ม และวัดมหาบุดที่กล่าวถึงก็คือวัดมหาบุศย์นั่นเอง) แต่หลักฐานทั้งสองนี้ก็ยังคงขัดแย้งกันเอง จึงต้องล้วนแต่ว่า ใครจะเชื่อในเรื่องไหนแต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ก็ยังคงเป็นตำนานรักอมตะประจำถิ่นพระโขนงมาตราบเท่าทุกวันนี้ และเพื่อเป็นการระลึกถึงแม่นาค ทางวัดมหาบุศย์จึงได้สร้างศาลแม่นาคพระโขนงขึ้นในบริเวณวัด เพื่อให้ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ได้แวะมากราบไหว้ย่านาคกัน

*(ชื่อ แม่นาค เขียนได้ ๒ อย่างคือ นาก ซึ่งหมายถึงของมีค่า จำพวกทอง เงิน นาก และ นาค ซึ่งเป็นชื่อที่นิยมใช้ในรุ่นหลังๆ)

เหตุที่ผีแม่นาคเฮี้ยนหนัก เพราะเอาศพไปฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่ ก่อนหน้าที่ทิดมากจะมา ผีนางนาคไปร้องขอข้าวเณร และยื่นมือไป เณรเอามีดหมอหลวงตาฟันมือขาด หลวงตาเอาเณรไปไว้ในกุฏิ เอาใบหนาดสวม และนอนเฝ้า แต่ผีนางนาคก็มาหักคอเณรจนได้ ผีนางนาคกับลูกเที่ยวหลอกชาวบ้านและคนเดินทาง รวมทั้งพระในวัดจนเป็นที่เลื่องลือ แม้หนุ่มๆ ผีนางนาคก็แปลงกายเป็นสาวสวยมาหลอกให้หลง พอรู้ว่าเป็นผีก็หนีขวัญหนีดีฝ่อ ทิดมากเองจะไปไหนก็ไม่ได้ นางนาคคอยติดตาม ในที่สุดต้องหาหมอผีมาเรียกวิญญานนางนาคและลูกใส่หม้อ นำไปถ่วงน้ำ แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ผีนางนาคจึงหายไป แต่ตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนงก็ยังเล่าสืบกันมา จนถึงกับนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง แม่นาคพระโขนง ฉายให้คนชมติดใจไปตามๆ กัน