โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะเกิดในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะสั้น
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) อีกหนึ่งโรคที่ผู้หญิงเป็นกัน ทั้งนี้เนื่องจาก ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคบริเวณดังกล่าว จึงเข้าไปในท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบมากในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผูที่ชอบอั้นปัสสาวะนานๆ ส่วนผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก ถ้าพบก็จะมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือเคยได้รับการสวนปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
1. การติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มแกรมลบ ซึ่งมีมากในบริเวณทวารหนัก แล้วปนเปื้อนผ่านเข้าไปในท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
2. การอั้นปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น และเมือกระเพาะปัสสาวะอยู่ในภาวะยืดตัว ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะจะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
3. การตั้งครรภ์ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบมากในผู้หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
4. การมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ หรือการมีเพศสัมพันธ์ อาจมีการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน” เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้เชื้อโรคเคลื่อนตัวเข้าไปในท่อปัสสาวะง่ายขึ้น หรือการฟกช้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้มีการอักเสบของท่อปัสสาวะ
5. ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง มักจะเกิดกับผู้หญิงวัยทอง เนื่องจากเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะและเยื่อบุช่องคลอดบางลง ทำให้เชื้อโรคแทรกเข้าไปได้ง่ายขึ้น
อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
1. ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
2. ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง)
3. มีอาการเหมือนปัสสาวะจะราด เวลาปวดปัสสาวะ
4. ปวดท้องเวลาปัสสาวะ
5. ปัสสาวะแล้วแต่ยังรู้สึกไม่สุด
6. รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ
7. ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางรายอาจมีเลือดปน หรือมีสีขุ่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ
การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
วินิจฉัยได้ง่ายๆ โดยมีอาการดังกล่าวข้างต้นร่วมกับการตรวจปัสสาวะ โดยให้ถ่ายปัสสาวะในช่วงแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึงเก็บปัสสาวะช่วงถัดมาเพื่อทำการตรวจจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจจำเป็นต้องเก็บปัสสาวะไปเพาะเชื้อเพื่อให้ทราบถึงแบคทีเรียนั้นด้วย
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
1.รับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมาก ต้องรับประทานยาในระยะเวลาที่นานขึ้น คือประมาณ 7-10 วัน
2.ผู้ที่มีอาการอักเสบได้ง่าย เช่น หลังมีเพศสัมพันธ์ อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการอักเสบ
การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
1.หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอด ท่อปัสสาวะและทวารหนัก
2.บางครั้งแบคทีเรียเมื่อหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้ว ต้องใช้เวลาในการฟักตัวของเชื้อ ซึ่งการดื่มน้ำมากขึ้นจะสามารถขับแบคทีเรียออกมาได้
3.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะไว้เป็ยระยะเวลานานๆ เพราะการกลั้นปัสสาวะนานเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้เชื้อแบคทีเรียมีระยะฟักตัวในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้นยิ่งทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
4.ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบบ่อยๆ เรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแอบแฝงอื่นๆ เช่น นิ่ว กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาทควบคุม หรือมีอาการอุดตันในกระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีผลร้ายแรงหรือไม่?
การรักษาให้หายขาดจะไม่มีผลร้ายแรง ส่วยรายที่ไม่หายขาดนั้น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจมีผลทำให้การอักเสบลุกลามไปถึงส่วนใดก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้นหลังรับประทานยาครบแล้ว จึงควรตรวจปัสสาวะซ้ำสักครั้ง