news

ชาวสวนยางก็ยังคงเเสดงความไม่พอใจ กรณีมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่จะจ่ายเงินอุดหนุนปัจจัยการผลิตให้ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ เช่นเดียวกับข้าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต้นทุนการผลิตต่างกัน

วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติหรือ กนย. เพื่อหารือถึงการแก้ปัญหายางพารา โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมก็เตรียมนำเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางเข้าที่ประชุม อาทิ เรื่องการให้สินเชื่อให้ชาวสวนยางหันไปทำเกษตรแบบผสมผสาน การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการด้านยางพารา รวมถึงการชดเชยรายได้เกษตรกร ส่วนความคืบหน้าการหารือสภาธุรกิจยางอาเซียนที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหามาตรการพยุงราคายางและการลดพื้นที่ปลูกยาง อยู่ระหว่างกำหนดวันประชุม เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

ด้านความเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการ การอุดหนุนเกษตรกรไร่ละหนึ่งพันบาท จำนวนรายละไม่เกิน 15 ไร่ ตามที่เป็นข่าวไปเมื่อวานนั้น ก็ได้มีความเห็นของชาวสวนยางออกมาตอบโต้ทันที โดยนายสาย อิ่นคำ ประธานเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรยางพาราครบวงจร กล่าวว่าการช่วยไร่ละพันไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตของยางต่างกับข้าว จึงนำมาเทียบกันไม่ได้ เพราะยางต้องปลูกไว้กว่า 7 – 8 ปีกว่าจะกรีดยางได้ เเต่ข้าวใช้เวลาปลูกแค่ 3 ถึง 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงยืนยันขอชดเชยที่ไร่ละ 2,520 บาท ตามที่ได้ทำหนังสือเสนอไปแล้ว หากรัฐบาลยืนยันจะจ่ายชดเชยไร่ละ 1,000 บาท ไม่ต้องจ่ายเสียเลยดีกว่า ทั้งนี้ ตนได้รับการประสานจากชาวสวนยางภาคใต้เเละภาคอีสานแล้ว หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่เป็นธรรม ก็เตรียมเคลื่อนไหวทั่วประเทศต่อไป

เช่นเดียวกับความเห็นของ นายทศพล ขวัญรอด ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้ ที่ย้ำว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เป็นการนำงบประมาณมาละลายทิ้ง แทนที่จะมีการพัฒนาระบบอื่นที่ดีกว่า เช่น ระบบสหกรณ์ชาวสวนยาง ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้ หากรัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเสนอชาวสวนยาง ตัวแทนของชาวสวนยางทุกสมาคมที่เข้าร่วมก็จะไม่ยกมือให้เด็ดขาด


ขอขอบคุณข่าวจาก