news

เปิดเส้นทางการเป็นอาชีพตำรวจ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ุ ก่อนจะถึงจุดจบที่ห้องขัง

กลายเป็นคดีครึกโครมของวงการสีกากีเป็นอย่างมาก หลังการจับกุมนายตำรวจระดับสูงพร้อมพรรคพวกที่ร่วมขบวนทำผิดในหลายกระทงด้วยกัน ต้องบอกว่าเป็นการถอนรากถอนโคนการทุจริตโกงกินบ้านเมืองเลยก็ว่าได้ แต่ก่อนที่นายตำรวจระดับสูงท่านนี้จะพบกับจุดจบด้วยข้อหา 4 ข้อหา

ย้อนเส้นทางการรับราชการเป็นตำรวจ

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นคนสมุทรสาคร เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 ปัจจุบันอายุ 58 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจาก โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ, มัธยมศึกษาจากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 (ตท.15), โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 31มีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.คนปัจจุบัน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1

จบการศึกษารัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากรั้วจามจุรี ผ่านการอบรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรสืบสวนของหน่วยสืบราชการลับ จากวิทยาลัยหน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา, หลักสูตรด้านการบริหารตำรวจ จากวิทยาลัยตำรวจแคนาดา เป็นต้น

ประวัติการทำงาน

ดำรงตำแหน่งเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลท่าพระ, สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา, รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม, ผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม, ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม, รองผู้บังคับการกองปราบปราม รักษาราชการแทนผู้การกองปราบปราม, ผู้บังคับการกองปราบปราม และดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ถือว่าเป็นลูกหม้อสายตรงในหน่วยสอบสวนกลาง

มือปราบคนสำคัญแห่งสีกากี

ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบและมือสอบสวนคนหนึ่งที่มีผลงานต่าง ๆ มากมายทั้งคดียาเสพติดและคดีการฉ้อโกงข้ามชาติและในขณะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 2 กองปราบปรามได้จัดตั้ง “หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์” โดยการนำหลักวิชาการมาใช้ในการสืบสวนเพื่อรองรับเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่

ในปี พ.ศ. 2539 พ.ต.ท.พงศ์พัฒน์ รอง ผกก.หน.สน.บางขุนนนท์ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ริเริ่มนำ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ตามทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ซึ่งเป็นทฤษฎี/หลักการทำงานของตำรวจที่ใช้ได้ผลจริงในประเทศสหรัฐอเมริกาในการลดปัญหาอาชญากรรมในชุมชน มาทดลองใช้อย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศไทย

คดีเด็ด คดีดัง ผลงานสร้างชื่อ

คดีปลอมแปลงเงินตรา ได้สืบสวนคดีธนบัตรดอลลาร์ปลอมที่ทำได้เหมือนที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา จับกุมผู้ต้องหา คือ นายอาซินลี เจ้าของฉายา “คิงคอง” ตัวการปลอมธน บัตรและตั๋วเงิน สามารถ ยึดแท่นพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ปลอม ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นแท่นพิมพ์ที่สามารถปลอมธนบัตรได้เหมือนที่สุด เป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลงานแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติ ศาสตร์หน่วยสืบราชการลับ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

คดีเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายใหญ่ของโลก จับกุมนายโรแลนด์ ลอสซิกมอล ทำลายขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีเครือข่ายหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชีย (บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พม่า ไทย ลาว) ยึดทรัพย์สินได้ประมาณ 800 ล้าน ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

จับกุมโรงงานผลิตยาบ้ารายใหญ่ 7 แห่ง (ในช่วงปี 2530-2531) โดยสามารถจับกุมนักเคมีชาวไต้หวัน ร่วมกับกลุ่มนายทุน ผลิตยาบ้า และยึดหัวเชื้อสำหรับผลิตยาบ้า ถือเป็นการ ทลายโรงงานผลิตยาบ้าได้มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน จับกุมขบวนการของหนีภาษีศุลกากร มูลค่าหลายสิบล้านบาท โดย ร.ต.อ.พงศ์พัฒน์ (ยศขณะนั้น) ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยได้ดำเนินคดีกับนายตำรวจยศพันตำรวจเอก ซึ่งเป็นระดับหัวหน้าตำรวจจังหวัด ระดับสารวัตรใหญ่ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

คดีข่มขู่ผู้บริหารบริษัท เทสโก้ โลตัส สำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ จับกุมนายอเล็กซานเดอร์จอห์น วินสโตน หรือ อเล็กซ์ อายุ 36 ปี สัญชาติอังกฤษ ซึ่งส่งอีเมล์ข้อความข่มขู่ผู้บริหารบริษัทเทสโก้ โลตัส ประเทศ อังกฤษ เรียกเงินจำนวน 2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 140 ล้านบาท โดยข่มขู่ว่าหากไม่ทำตามจะผสมสารพิษปนเปื้อนในอาหารที่วางจำหน่ายในห้างโลตัส สาขาใดสาขาหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่หน่วยสกอตแลนด์ยาร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร จึงได้ประสานให้ช่วยสืบสวน และได้สืบสวนจับกุมตัวนายอเล็กซานเดอร์ จอห์น วินสโตน หรือ อเล็กซ์ ผู้ต้องหาได้

คดีปล้นทรัพย์ร้านทองนวนคร จับกุมนายยุทธนา นึกหมาย และนายสุชาติ หรือ “อัศวิน” สิทธิทองหลวง ผู้ต้องหาที่ได้ปล้นทรัพย์ ทองคำไปกว่า 500 บาท โดยก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ได้จับกุม นายชุบ ชุมแสง, นายเชษฐ์ ชุมแสง และนายบุญถึง ทองแถม ผู้ต้อง หาจำนวน 3 คน ผิดตัว โดยพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ผกก.1 ป. (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ได้สืบสวนรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งสามารถจับผู้ต้อง หาตัวจริงได้ และศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2545 ตัดสินจำคุกนายยุทธนา และนายสุชาติ ผู้ต้องหาตัวจริงคนละ 31 ปี และได้ปล่อยผู้ต้องหาที่ตกเป็นแพะในคดีดังกล่าว 2 คน สู่อิสรภาพ

คดีฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นผู้หญิงรายแรกในประเทศไทย นางณัฐกานต์ อนะมาน วางแผนจดทะเบียนสมรสกับ พล.อ.ต.กิตติพัฒน์ เมือง โคตร (เมื่อปีพ.ศ.2543) และนายอรุณ ครัวกลาง (เมื่อปีพ.ศ.2545) ทำประกันชีวิตวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท วางยาพิษและจัดฉากอำพรางคดีเป็นอุบัติเหตุ การดำเนินการสืบสวนใช้หลักการวิเคราะห์พฤติกรรมซึ่งเป็นวิชาการสืบสวนสมัยใหม่ จนสามารถดำเนินคดีกับนางณัฐกานต์ได้ ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 25 ปี

คดีฉ้อโกงบริษัทประกันภัย จับกุมนายพิเชษฐ์ พรตันติพงศ์ อายุ 38 ปี ในข้อหาร่วมกันพยายามฉ้อโกง โดยนายพิเชษฐ์ มีพฤติกรรมหลอกลวงบริษัทประกันภัยหลายแห่ง เพื่อเคลมเงินประกันอุบัติเหตุกรณีสูญเสียอวัยวะจากการตัดนิ้วหัวแม่มือซ้ายของตัวเองที่ทำไว้ รวมมูลค่า 16 ล้านบาท โดยคดีนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์เข้ามาช่วยในการสืบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

คดีนายวิกเตอร์ อนาโตลเจวิช บูท ผู้ก่อการร้ายระดับชาติ ที่เป็นข่าวโด่งดัง โดยจับกุม นายวิกเตอร์ อนาโตลเจวิช บูท อายุ 41 ปี สัญชาติรัสเซีย ผู้ต้องหา ในข้อหา “ร่วมกันจัดหาและรวบรวมทรัพย์สินเพื่อการก่อการร้าย” ซึ่งนายวิกเตอร์ เป็นหัวหน้าแก๊งค้าอาวุธสงคราม มีเครือข่ายส่งอาวุธสงครามให้กับกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาล และกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องการตัวมากที่สุด ได้หลบหนีเข้ามาประเทศไทย ซึ่งต่อมาทางประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีคำร้องขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายวิกเตอร์ เพื่อนำตัวกลับไปดำเนินคดี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

คดีทุจริตการจัดซื้อของหลวงระดับชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ขณะดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการประกวดราคา ตามคำสั่งกรมบัญชีกลาง ที่ สมพ./ก.252/2550 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ประกอบด้วย นายตำรวจยศ พลตำรวจโท กับพวกรวม 6 คน โดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับผลประโยชน์ กรณีกระทำผิดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542, ประมวลกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”

ผลงานด้านวิชาการ

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นอาจารย์บรรยายในวิชาสำคัญต่าง ๆ เป็นอาจารย์บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยผลพวงแห่งการเรียนมากอ่านมากนี่เอง จึงทำให้พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ จับปากกาเขียนตำราและเอกสารทางวิชาการตำรวจแผนใหม่อีกหลายเล่ม จัดพิมพ์สำหรับใช้ประกอบการศึกษาด้านวิชาการตำรวจ ประกอบด้วย ความรู้เบื้องต้นการเฝ้าสังเกตการณ์ และการสะกดรอยติดตาม พ.ศ.2536 ความรู้เบื้องต้นการสืบสวนอาชญากรรม พ.ศ.2537 วิธีปฏิบัติภาคสนามสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อรับแจ้งเหตุอาชญากรรม พ.ศ.2539 ความรู้เบื้องต้นการปฏิบัติงานตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และตำรวจผู้รับใช้ชุมชน พ.ศ.2540 มุมมองใหม่การจัดการองค์กรตำรวจศตวรรษที่ 21 พ.ศ.2542 การปฏิบัติงานสืบสวนคดีฆาตกรรมในศตวรรษที่ 22 พ.ศ.2544

เส้นทางพลิกผันจากตำรวจสู่ผู้ต้องหา

ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ถูกเด้งฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2557 ตอนประมาณตี 4 กว่า ๆ มีคำสั่งเด็ดขาดจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ตามมาด้วยถูกจับในข้อหา ป.อาญา ม.112 (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ), ม.148 (เจ้าพนักงานจูงใจให้ผู้อื่นมอบผลประโยชน์ฯ), ม.149 (เจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์ฯ), ม.157 (เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ), พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่ง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา


ขอขอบคุณข่าวจาก