news

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลตรวจเชื้อโรคเมอร์สจากห้องปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 2 ของผู้ป่วยชายชาวตะวันออกกลาง อายุ 70 ปี พบว่าติดเชื้่อไวรัสเมอร์ส ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2558 เพื่อรักษาโรคหัวใจ แต่พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบและอาการไม่ดีขึ้น จึงย้ายผู้ป่วยมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และได้ส่งเสมหะไปตรวจและพบว่าติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในห้องแยกโรค รวมถึงญาติ 3 คนที่อยู่ในห้องแยกโรค ผู้ป่วยมีอาการทรงตัว

นพ.รัชตะกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากประเทศในตะวันออกกลางเพื่อมารักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย เมื่อเดินทางมาถึงแล้วได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด โดยประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขล่วงหน้า พร้อมแยกผู้ป่วยและญาติไม่ปะปนกับผู้อื่นและได้ส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร อาการทรงตัว

สำหรับการสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสโรค 59 คน ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตามรับตัวไว้สังเกตอาการใน โรงพยาบาลหรือให้สังเกตอาการที่บ้านและเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอาการทุกวัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากต่างประเทศ และประเทศเราตรวจจับได้เร็วและระมัดระวังด้วยอยู่แล้ว ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่พบผู้ป่วยเร็วและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้ ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้งดเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด สำหรับประชาชนทั่วไป หากเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วย และเมื่อกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากป้องกันโรค ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ความร่วมมือของประชาชนจะทำให้ประเทศเราควบคุมโรคนี้ได้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องตรวจเชื้อซ้ำเป็นรอบที่สอง เนื่องจากผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 4 แห่งให้ผลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกัน ทำให้ต้องตรวจยืนยันผลซ้ำอีกครั้ง โดยให้เก็บตัวอย่างที่ตรงกัน กำหนดให้เก็บสารคัดหลั่งตั้งแต่จมูกไปจนถึงคอหอย เพื่อให้ผลแน่ชัดและแม่นยำ ซึ่งก่อนหน้านี้เก็บสารคัดหลั่งแค่โพรงจมูกกับน้ำล้างปอด

นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมทั้ง คลินิก ซักประวัติคนไข้ว่าเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงหรือไม่ หากมีอาการป่วยหรือมีไข้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยแบบเอ็น 95 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือหากต้องการมาโรงพยาบาลให้ติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อรับตัวมาส่งที่โรงพยาบาล

ส่วนญาติที่สัมผัสใกล้ชิดจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแล พร้อมกันนี้ย้ำว่าประเทศไทยมีโอกาสได้รับเชื้อเพราะไม่มีการจำกัดการเดินทางเช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ ต้องปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด

นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการเดินทางเข้าออกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไป-กลับตะวันออกกลาง มากกว่าเกาหลีใต้ถึง 2 เท่า จึงย้ำให้ 67 ด่านทั่วประเทศ เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

ขณะที่เรืออากาศเอกปรารถนา พัฒนศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความปลอดภัยความมั่นคงและมาตรฐานการบิน บริษัท การบินไทย ชี้แจงว่า บริษัทมีมาตรการป้องกันทั้งก่อนเดินทางและระหว่างเดินทางด้วยการคัดกรองในการตรวจรับผู้โดยสาร การจัดเตรียมอากาศยานและการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในอากาศยานที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง การทำความสะอาดภายในอากาศยาน เช่น เพิ่มการทำความสะอาด36 จุดสัมผัส ภายในห้องโดยสาร การป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยของพนักงาน มาตรการด้านการรับขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และหลีกเลี่ยงการขนส่งสินค้าที่มีความเสี่ยง

ด้านพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบเชื้อเมอร์สในผู้เดินทางมาจากประเทศโอมาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบและดำเนินการให้การรักษาในพื้นที่ควบคุม รวมถึงการติดตามดูแลตรวจสอบ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชายคนนี้ว่า รัฐบาลมั่นใจในกระบวนการทำงานที่ครอบคลุมครบถ้วนของกระทรวงสาธารณสุข และมั่นใจว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

“กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามขั้นตอนการควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดในระดับสูงสุดตามมาตรการสากล ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุด

นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่จำเป็นต้องใส่ใจติดตามข่าวสารและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นระยะ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด สำหรับรัฐบาลเองได้ดำเนินตรวจสอบและเฝ้าระวัง อย่างเต็มที่ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีเผชิญเหตุเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประกาศโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ MERS (Middle East Respiratory Syndrome) เดิมมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 เป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ส่วนในบางประเทศของคาบสมุทรอารเบียน ยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์การระบาดใหญ่ของเชื้อ MERS-CoV ของประเทศเกาหลีใต้และความเสี่ยงของประเทศไทยในการพบผู้ป่วยติดเชื้อ MERS-CoV กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฏร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ตรัง) และห้องปฏิบัติการเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับจำนวนตัวอย่างที่อาจเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ และสามารถรายงานผลให้ผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ภายใต้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่ออันตราย

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศลง วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ประกาศลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556 ประกาศลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557 จำนวน 6 โรคนั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขจึงออกประกาศเพิ่มเติมชื่อโรคอันตราย ดังนี้

7 โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome – MERS)

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 


ขอขอบคุณข่าวจาก