จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา คดีไฟไหม้ซานติก้าผับ
ปิดคดีซานติก้าผับ ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “เสี่ยขาว” วิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้บริหารซานติก้าผับ “บุญชู เหล่าสีนาท” กก.บริษัทโฟกัสไลท์ฯ ติดเอฟเฟกต์ ฐานกระทำประมาทเกิดเพลิงไหม้กลางผับคืนส่งท้ายปี 51 สาหัส 45 บาดเจ็บ 72 ราย พร้อมให้ บริษัทติดตั้งเอฟเฟกต์ ชดใช้เงินญาติคนตาย ผู้บาดเจ็บกว่า 5 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (4 พฤศจิกายน) ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 และญาติผู้เสียชีวิต กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวม 57 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ เสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1 , นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ จำเลยที่ 2 , นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิง จำเลยที่ 3 , นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด จำเลยที่ 4 , นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ จำเลยที่ 5 , บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับ จำเลยที่ 6 และ นายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7
ในความผิดฐานผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่นทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น, ผู้ใดกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย , ผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 225 , 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 16/1 , 16/3.27 และ 28/1 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291
ตามฟ้องโจทก์ ระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 มกราคม 2552 พวกจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จัดให้มีงานรื่นเริงให้บริการจำหน่ายอาหารสุรา เครื่องดื่ม การแสดงดนตรีรวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง ในโอกาสฉลองเทศกาล วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในตัวอาคารซานติก้าผับ ย่านเอกมัย
ซึ่งภายในตัวอาคารไม่มีแบบแปลนแผนผังอาคารติดตั้งแสดงไว้ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ และไม่ได้ติดตั้งไฟฉุกเฉินให้มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถเปิดส่องสว่างแก่ลูกค้า เพื่อการหลบหนีออกจากตัวอาคารได้สะดวกและปลอดภัยโดยอาคารมีพื้นที่ให้บริการลูกค้าที่สามารถจุคนได้ไม่เกิน จำนวน 500 คน
แต่ขณะเกิดเหตุมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยจำเลยที่ 5 ได้จุดพลุไฟที่บริเวณหน้าเวที ซึ่งมีความสูงประมาณ 5 เมตร จนเกิดลูกไฟขึ้นไปชนเพดานเวที ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณเพดานเวทีและภายในตัวอาคารเป็นเหตุให้ลูกค้าผู้เข้าไปใช้บริการ ในอาคารถึงแก่ความตาย 67 คน บาดเจ็บสาหัส 45 คน บาดเจ็บอีก 72 คน
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยจำเลย 1 อ้างว่าขณะเกิดเหตุไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไวท์ แอนด์บราเธอร์ส์(2003)จำกัด ซึ่งบริหารร้านซานติก้าผับ ส่วนจำเลยที่ 6 และ 7 ต่อสู้คดีว่าเพลิงที่ลุกไหม้ไม่ได้เกิดจากเอฟเฟกต์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 เห็นว่า จำเลยที่ 1, 6 และ 7 เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ม. 291 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุก นายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับ จำเลยที่ 7 คนละ 3 ปี และปรับบริษัท โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่ 6 รวม 20,000 บาท
โดยให้บริษัท จำเลยที่ 6 และนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ยกฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 1, 6 ,7 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง โดยโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของนายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้อง ขณะที่โจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์ส่วนค่าเสียหาย
ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง นายวิสุข หรือ เสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ทุกข้อหา เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่กระทำประมาทโดยตรงที่จะทำให้เหตุเพลิงไหม้ ลำพังที่จะฟังว่าให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าไปในสถานบันเทิงเกิน 500 คนก็ฟังไม่ได้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 จะมีพฤติการณ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องของการไม่ได้ติดแบบแปลนแผนผังของอาคาร ป้ายบอกทางหนีไฟ และติดไฟฉุกเฉินให้เพียงพอ ที่เป็นข้อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดนั้น สืบเนื่องจากการจุดเอฟเฟกต์ด้วยไฟฟ้าที่หน้าเวทีที่จำเลยที่ 6-7 ดูแล
และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง นายสราวุธ นักร้องวงเบิร์น จำเลยที่ 5 เนื่องจากหลักฐานดีวีดีบันทึกภาพที่ได้จากกล้องวีดีโอของพนักงานบริษัทที่บันทึกการแสดงโชว์บนเวที ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ไม่ปรากฏภาพว่า จำเลยที่ 5 ได้ถือกระบอกพลุและจุด ตามคำเบิกความของพยานโจทก์บางปากซึ่งภายในอาคารมีแสงไฟสลัว ค่อนข้างมืด ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากยืนเบียดเสียดกัน จึงเป็นไปได้ที่พยานจะเห็นภาพในมุมที่ต่างกัน และอาจจะเข้าใจผิดได้ โดยภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดี พบเพียงแค่จำเลยที่ 5 ยืนถือไมค์เพียงมือเดียว ไม่ได้ก้มๆ เงยๆ ตามคำเบิกความของพยาน ซึ่งหากจะถือกระบอกพลุด้วยก็ต้องถือ 2 มือพยานหลักฐานโจทก์ยังมีความขัดแย้งกัน
ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนจำคุก นายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 3 ปี และปรับ บ.โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาท และให้บริษัทจำเลยที่ 6 กับ นายบุญชู จำเลยที่ 7 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 4-8 รวม 5 รายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษ นายวิสุข หรือ เสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ส่วน บ.โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่ 6 และ นายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ที่นำสืบมารับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากดอกไม้เพลิงของนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ากลองชุดของวงดนตรีที่อยู่ในงาน เมื่อมีการทำฉากเอฟเฟกต์ ในร้านเกิดเหตุจึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว
ส่วน บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น เมื่อนายบุญชู กรรมการบริษัท จำเลยที่ 7 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในการรับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงดังกล่าวตามวัตถุประสงค์จึงถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 ด้วย ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญาแม้จะเป็นการกระทำโดยประมาทบริษัทจำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 6-7 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับ นายวิสุข จำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ที่เป็นเจ้าของร้าน แต่เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้มีไฟฉุกเฉินของทางหนีไฟ ขณะที่ประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าร้าน ซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียว มีความกว้างเพียง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ซึ่งไม่พอที่จะระบายคนเกือบ 1,000 คนให้ทันแก่เหตุการณ์ เมื่อมีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้ จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทด้วย
ฎีกาของโจทก์ในส่วนของ นายวิสุข (เสี่ยขาว) จำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนายวิสุข จำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก นายวิสุข จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ตาม ม. 291 ที่เป็นบทหนักสุด
ส่วน นายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 3 ปี ตาม ม. 291 และ ปรับ บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาท และให้บริษัท จำเลยที่ 6 กับนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 5,120,000 ล้านบาท
สำหรับจำเลยที่ 2-5 โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกาจึงทำให้คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2- 5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ขณะนี้ นายวิสุข หรือเ สี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1 และนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ได้ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ นายวิสุข หรือ เสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ นั้นยังมีคดีฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กรณีไม่ยื่นแสดงแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีสรรพาสามิต ต่อกรมสรรพสามิต รวมยอดเงินทั้งสิ้น 85,382,470.67 บาท ที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาให้ยกฟ้อง
ขอขอบคุณข่าวจาก