ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ใหญ่แค่ไหนก็ถูกตรวจสอบได้
ภาพของ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” นั่งหน้าซีดรายล้อมด้วยคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาสหรัฐ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในกรณีบริษัทเคมบริดจ์ อนาลิติกา (Cambridge Analytica) เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา และต้องแถลงว่า “บริษัทเฟซบุ๊กทำผิดพลาดไป เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ตนทำผิด และขอกล่าวคำขอโทษ” ถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เป็นภาพที่หาได้ยากยิ่งที่จะเห็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกต้องเผชิญกับการสอบสวนต่อสาธารณะเช่นนี้ และเป็นภาพสะท้อนถึงระบบประชาธิปไตยอเมริกาที่ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง แต่ยังมี “ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ต่อหน้าผู้แทนของประชาชน” เป็นสำคัญ
กลไกการเรียกรับฟังของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เป็นอำนาจของรัฐสภาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และวุฒิสภา (Senate) มีอำนาจเรียกบุคคลมาให้การ (Testimony) ต่อหน้าคณะกรรมาธิการเพื่อสอบถาม ไต่สวน และชี้แจง ในประเด็นอันเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการนั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยในกรณีที่เป็นประเด็นสำคัญต่อสาธารณะและมีผู้สนใจมาก จะถูกถ่ายทอดสดผ่านคลื่นสัญญาณช่องโทรทัศน์ของรัฐสภา C-SPAN ซึ่งโทรทัศน์ช่องอื่นสามารถเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดไปได้ทันที
การเรียกบุคคลมาให้การต่อคณะกรรมาธิการ สามารถกระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
การรับฟังเพื่อบัญญัติกฎหมาย (Legislative Hearing): คณะกรรมาธิการอาจเรียกผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีผลกระทบ หรือผู้เชี่ยวชาญ มาให้การชี้แจงถึงผลดี ผลเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการออกกฎหมาย หรือกรณีเกิดการคัดค้านร่างกฎหมาย ก็สามารถเรียกมาไต่สวนเพิ่มเติมก่อนนำร่างกฎหมายไปลงมติในสภา เช่น การรับฟังความคิดเห็นของเหยื่อผู้รอดชีวิตการกราดยิงในโรงเรียนเพื่อประกอบการออกกฎหมายจำกัดการถือครองปืน
การรับฟังเพื่อกำกับดูแล (Oversight Hearing): คณะกรรมาธิการอาจเรียกผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่าง ๆ ที่มีข้อพิพาทมาให้การเพื่อประกอบการกำกับดูแล และตรวจสอบว่าผู้ปฏิบัติการได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ และยังเป็นการทบทวนการใช้กฎหมายว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายเพียงใด เช่น การรับฟังเพื่อกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
การรับฟังเพื่อสอบสวน (Investigative Hearing): คณะกรรมาธิการอาจเรียกผู้เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบของกรณีที่สงสัยว่ามีการละเมิดกฎหมายในเชิงเจตนารมณ์ โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคลากรเอกชนที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสาธารณชน เข้าให้ปากคำเพื่อสอบสวนการกระทำผิดที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยมาตรการทางกฎหมาย เช่นในกรณีของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ที่บริษัทเฟซบุ๊กอาจถูกออกกฎหมายบังคับไม่ให้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเกินจำเป็นในอนาคต หรือย้อนกลับไปในกรณีที่บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์ ถูกบังคับไม่ให้ผูกขาดการค้าด้วยการห้ามติดตั้งโปรแกรมอินเทอร์เน็ต เอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) ลงในระบบปฏิบัติการวินโดวส์เป็นค่าเริ่มต้น
การรับฟังเพื่อยืนยันการแต่งตั้ง (Confirmation Hearing): คณะกรรมาธิการมีอำนาจรับฟังคำให้การของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาจนถึงผู้อำนวยการองค์กร เช่น เอฟบีไอ ซีไอเอ รวมถึงเอกอัครราชทูตที่จะไปประจำยังประเทศต่าง ๆ เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ว่าเหมาะสมจะรับตำแหน่งหรือไม่ โดยคณะกรรมาธิการสงวนสิทธิ์ไม่รับรองให้บุคคลเหล่านั้นดำรงตำแหน่งที่ได้รับเสนอชื่อมาก็ได้ หากเห็นว่าบุคคลนั้นขาดความรู้ความสามารถ หรือมีข้อบกพร่องร้ายแรงไม่สมควรแต่งตั้ง มิใช่ว่าประธานาธิบดีจะแต่งตั้งได้ทันทีที่กำหนดชื่อมา
การรับฟังเพื่อให้สัตยาบัน (Ratification Hearing): รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาต้องเรียกรัฐมนตรีหรือผู้เกี่ยวข้องมาให้การ ก่อนจะลงสัตยาบันในสนธิสัญญาที่ทำกับต่างประเทศ เช่น เขตการค้าเสรี หรืออนุสัญญาด้านภาษี
การรับฟังนอกสถานที่ (Field Hearing): ในกรณีจำเป็น คณะกรรมาธิการอาจออกไปรับฟังนอกสถานที่เพื่อตรวจสอบความจริง ณ พื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังคำให้การและสำรวจข้อเท็จจริงแวดล้อม ก่อนจะนำมาพิจารณาออกหรือแก้ไขกฎหมาย เช่น ในกรณีท่อแก๊สระเบิด หรือการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน คณะกรรมาธิการพลังงานและสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องสำรวจสถานที่จริงก่อนการลงมติ
การเรียกรับฟังของคณะกรรมาธิการรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงการยึดโยงอำนาจกับประชาชนก่อนจะกำหนดข้อบังคับและออกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ เพราะจะเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นว่า
ไม่มีใครใหญ่กว่าผู้แทนของประชาชน – คณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องมาให้การชี้แจง ตั้งแต่ประธานาธิบดีลงมา นายทหารทุกระดับ สมาชิกสภา หรือตุลาการ ก็อาจถูกเรียกมาให้ปากคำได้
เป็นเครื่องวัดความสามารถของผู้แทนประชาชน – สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ขึ้นสอบถามและไต่สวน เมื่อถูกถ่ายทอดสดสู่สายตาสาธารณะ ก็จะถูกชี้วัด ประเมิน และจับตาว่าได้เตรียมความพร้อม มีการศึกษาข้อมูล และถามคำถามที่ฉลาดพอหรือไม่ หากคณะกรรมาธิการแสดงความผิดพลาด หรือถามคำถามที่อ่อน ก็จะถูกสื่อมวลชนโจมตีว่าบกพร่องต่อหน้าที่และขาดความสามารถเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ส่งผลต่อการเลือกตั้งในสมัยถัดไป
ประชาชนต้องได้รับคำตอบในประเด็นสงสัยที่สำคัญ – ผู้ถูกคณะกรรมาธิการของสภาเรียกมาให้การ จำเป็นต้องตอบคำถาม เว้นเสียแต่ว่าคำถามนั้นจะละเมิดกฎหมายที่กำหนด
ในประเทศไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายและสอบสวนประเด็นต่าง ๆ มีอำนาจเรียกบุคคลและเอกสารมาให้การเช่นกัน แต่ในความจริงการบังคับใช้ยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากผู้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการบางส่วนยังขาดความรู้ความสามารถในประเด็นที่ตนดำรงตำแหน่ง รวมถึง ไม่มีการถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้รับฟังในประเด็นที่สำคัญต่อสาธารณะ
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะถูกโจมตีว่าละเมิดความเป็นส่วนตัว เก็บข้อมูลของประชาชน หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อเปรียบเทียบกันกับชาติอื่นแล้ว ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ยังธำรงไว้ซึ่งกลไกการถ่วงดุลอำนาจ การตรวจสอบและคัดค้าน การสร้างความรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งผ่านระบบตัวแทนและต่อประชาชนโดยตรง โดยมีสื่อมวลชนเป็นผู้ร่วมสื่อสารคัดกรอง
เราย่อมไม่มีทางเห็นภาพเช่นนี้ ในประเทศที่ควบคุมสื่อโดยรัฐอย่างเข้มงวด ในประเทศที่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และในประเทศที่คณะผู้บริหารไม่ว่าทั้งภาครัฐหรือเอกชน ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ต่อสาธารณะ
ขอขอบคุณข่าวจาก