เนติวิทย์ ร่วมประชุมที่นอร์เวย์ ชวนทั่วโลก ชูสามนิ้ว ต้านรัฐบาล คสช.
“เนติวิทย” ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยเสรีภาพที่นอร์เวย์ ระบุไทยต้องปฏิรูปการศึกษาให้คนมีความคิดเชิงวิพากษ์ และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แทนที่จะสยบยอม ทั้งยังเรียกร้องให้นานาชาติกดดัน คสช.ให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้ด้วย
การประชุมนานาชาติว่าด้วยเสรีภาพ ครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค. 2561 โดยองค์กรไม่แสวงหากำไร “ออสโล ฟรีดอม ฟอรัม” (OFF) ซึ่งในปีนี้ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” นักกิจกรรมชาวไทย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเชิญไปขึ้นเวทีในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพคนหนึ่งของไทย
เนติวิทย์ได้ขึ้นพูดต่อผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรม เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชนจากหลายประเทศ ในหัวข้อ “นักศึกษาและกองทัพ” (The Students and the Military) ซึ่งเป็นการพูดถึงบทบาทของกลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นนิสิตนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา
โดยเนติวิทย์กล่าวว่า เขาคงจะไม่มีโอกาสได้ขึ้นพูดบนเวทีที่ออสโล ถ้าหากว่าเขาถูกจับพร้อมเพื่อนๆ ที่ออกไปชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค.
“ผมคงไม่ได้มาที่นี่ถ้าผมถูกจับพร้อมเพื่อนที่ออกไปประท้วงในวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร เพื่อทวงการเลือกตั้งจากรัฐบาลทหาร ผมอยากจะขอยกย่องความมุ่งมั่นในจิตวิญญาณประชาธิปไตยของพวกเพื่อนๆ ผม ที่พยายามจะนำมา (ซึ่งประชาธิปไตย) ให้กับพวกเรา” เนติวิทย์ ระบุ
“ชีวิตผมไม่ได้ต่างจากเด็กไทยทั่วๆ ไป ผมโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางของสังคมไทย ผมเป็นเด็กที่เรียนได้ในระดับพอใช้ ผมไม่สนใจเรื่องการเมือง ผมยอมตัดผมเกรียนและสวมเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่ตั้งคำถาม จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้ทำหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน และเขียนบทความตั้งคำถามว่าทำไมครูถึงต้องมายุ่งกับศีรษะนักเรียน ผมขอให้ครูที่ผมเชื่อใจช่วยอ่านบทความ และต่อจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้ยินเสียงเรียกจากเครื่องกระจายเสียงของโรงเรียน ให้ผมเข้าไปพบที่ห้องพักครู ผมถูกกักบริเวณ 5 ชั่วโมง เพียงเพราะผมเขียนบทความ ถามคำถามง่ายๆ ว่าทำไมครูต้องมายุ่งกับศีรษะของนักเรียน” เนติวิทย์ ย้อนที่มาการเป็นนักกิจกรรม
ประสบการณ์นี้ทำให้ภาพของตนในสายตาของครูเปลี่ยนไป จากนักเรียนธรรมดา กลายเป็นนักเรียนที่เป็นภัยต่อโรงเรียน ซึ่งตนถือว่าเป็นคำชมที่เป็นเกียรติมาก จนกระทั่งปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล และส่งทหารไปควบคุมทั่วประเทศ เพราะมีการเคลื่อนไหวประท้วงการก่อรัฐประหาร และพวกเขาก็ตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้ประท้วง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยใช้กำลังปะทะกับผู้ชุมนุม เพราะเมื่อ 40 ปีก่อน นักศึกษาจำนวนมากก็ถูกสังหารหมู่ด้วยฝีมือของผู้มีอำนาจในระดับที่ไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีน
เมื่อปี 2559 ในฐานะที่เป็นนิสิตคนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกมองว่าเป็นสถาบันของพวกอนุรักษนิยม เพื่อนร่วมชั้นของตน และตนเองได้ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญด้วยการพยายามจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ตนเชิญ “โจชัว หว่อง” แกนนำกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมเวทีพูดคุย เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในไทย แต่ตนตกใจมากเมื่อไปรอเขาที่สนามบินอยู่นานกว่า 8 ชั่วโมง แต่เขาก็ไม่มา จนตอนหลังตนมารู้ว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ของทางการไทยควบคุมตัว และถูกส่งตัวกลับฮ่องกงในวันต่อมา นั่นเป็นครั้งแรกภายใต้อรัฐบาลทหารที่ตนรู้สึกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเสรีภาพที่เราเคยมี และประเทศของตนตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนเสียแล้ว
ปีถัดมา ตนได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนและเพื่อนร่วมสภาได้ตัดสินใจเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนิสิตใหม่แรกเข้า ซึ่งนักศึกษาปี 1 ต้องหมอบกราบต่อหน้าพระรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตนเลือกที่จะยืนขึ้นแทน เพื่อรำลึกถึงพระดำริของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศเลิกทาส สิ่งที่ตนและเพื่อนทำลงไป กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงวิชาการ และอาจารย์จำนวนหนึ่งกล่าวหาว่าตนแสดงอาการก้าวร้าวแข็งข้อ และพยายามจัดฉาก ขณะที่ศิษย์เก่าหลายคนเรียกร้องให้ไล่ตนออก รวมถึงปลดตนออกจากการเป็นประธานสภานิสิต เช่นเดียวกับเพื่อนนิสิตคนอื่นๆ ที่เลือกจะยืน ถูกตัดคะแนนความประพฤติทั้งหมด
พวกเราเจอลงโทษหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้พวกเราได้รับการสนับสนุนจากคนไทยจำนวนมาก รวมถึงนักวิชาการทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 8 ราย และนักวิชาการอีกกว่า 100 ราย แสดงความกังวล และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนการกระทำดังกล่าว เพราะพวกเราก็เป็นแค่นิสิตที่ต้องการแสดงความคิดเห็นออกมา พวกเราไม่ได้มีอาวุธ แต่เรากลับถูกทำให้เงียบ
ล่าสุด ในประเทศไทย นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งเปิดโปงกระบวนการทุจริตครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการฉ้อโกงเงินช่วยเหลือคนยากจน แต่อิทธิพลของกองทัพกำลังเข้าครอบงำสถาบันการศึกษาไทย พวกเขาได้เพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์เลยแม้แต่นิด แต่เป็นการสอนให้เป็นนักเรียนที่ดีที่เชื่อฟัง และผู้ดูแลการตรวจสอบขบวนการทุจริตที่ตนกล่าวถึงก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนาฬิกาหรูอยู่ในครอบครองถึง 25 เรือน และยังไม่มีใครแตะต้องได้
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เปิดทางให้รัฐบาลทหารกลับมามีอำนาจได้ใหม่ในอนาคต สมาชิกวุฒิสภาจำนวนเกือบครึ่งจะถูกแต่งตั้ง แทนที่จะถูกเลือกตั้งมาโดยประชาชน สิ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่เห็นต่าง เช่น เพื่อนของตนซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งชื่อ “ไผ่ ดาวดิน” แชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยในเฟซบุ๊ก และเขาเป็นคนเดียวที่ถูกจับ แต่คนอีกกว่า 2,600 คนที่แชร์บทความเดียวกัน กลับไม่ได้ถูกจับแต่อย่างใด
และในปีนี้ หลังจากที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ทำให้ตนได้รับเกียรติอีกครั้ง ด้วยการถูกตั้งข้อหาเป็นแกนนำ ยุยงปลุกปั่น และก่อให้เกิดความไม่สงบ ละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งถ้าถูกตัดสินว่าผิดจริงก็อาจจะถูกลงโทษจำคุก 6-7 ปี และตนเพิ่งได้รับข่าวจากเพื่อนว่า ตนอาจจะโดนเพิ่มอีกข้อหา แต่ตนก็ยังมีความหวังว่าประเทศไทยจะดีขึ้น ความหวังนั้นยังไม่หายไปไหน
เมื่อไม่กี่วันก่อน เป็นวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร เพจเฟซบุ๊กที่แสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลทหาร ได้จัดทำโพลสอบถามความเห็นประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า พวกเขายังคงสนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่หรือไม่ น่าประหลาดใจมากที่ร้อยละ 97 ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 300,000 คน ตอบว่า “ไม่” แม้ว่าจะมีการประท้วงและล้มเหลว บางครั้งเราถูกจับ และบางครั้งทหารก็ตามไปถึงบ้านคนที่ออกมาประท้วง แต่คนไทยไม่ยอมแพ้ และเวลานั้นจะมาถึง เวลาที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเราทำนั้นถูกต้อง
ก่อนจบคำกล่าวบนเวที เนติวิทย์ได้ขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมการประชุม OFF รวมถึงตัวแทนจากประเทศในยุโรปและนักกิจกรรมทั่วโลกให้ลุกขึ้นยืนและชูสามนิ้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย และช่วยกดดันรัฐบาลทหารให้จัดการเลือกตั้งโดยไม่เลื่อนกำหนดออกไปอีก ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ลุกขึ้นยืนและชูสามนิ้วไปพร้อมกับเนติวิทย์ด้วย
ทั้งนี้ OFF มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก โดยการประชุม OFF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
ซึ่งผู้พูดที่ร่วมเวทีเดียวกับเนติวิทย์ในปีนี้ รวมไปถึง “วาเอล โกนิม” หัวหน้าฝ่ายการตลาดของกูเกิล ภาคพื้นตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระแส “อาหรับสปริง” ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการ “ฮอสนี มูบารัค” ของอียิปต์ และ “อัสมา คาลิฟะ” นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่สนับสนุนสิทธิสตรีและสันติภาพจากประเทศลิเบีย
ขอขอบคุณข่าวจาก