เปิดตำนาน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ท้องที่ ต.โป่งผา เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ มีจุดบริการท่องเที่ยว 2 แห่ง คือ บริเวณถ้ำหลวง บ้านน้ำจำ และบริเวณขุนน้ำนางนอน บ้านจ้อง มีสภาพเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาหินปูนสูงชันเงียบสงบ
ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ เชื่อกันว่ามีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยเนื่องจาก มีความยาวกว่า 7 กิโลเมตร ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมากภายในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ถ้ำหลวงยังรอคอยความท้าทายการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา เพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วยพบกับอุปสรรคความยากลำบาก ภายในถ้ำและยังมีถ้ำเล็กๆ อีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน สามารถเดินเข้าไปชมความงามได้ และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย โดยที่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมภายในถ้ำ ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี
ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ตำนานดอยนางนอน เรื่องแรกเล่าขานว่า ณ เมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา มีเจ้าหญิงองค์หนึ่งมีพระรูปงดงามเป็นที่ยิ่ง ได้แอบรักกับชายเลี้ยงม้าในวัง จึงหนีตามกันมาถึงที่ราบใกล้แม่น้ำโขง เมื่อเดินทางไปถึงที่นั่น เจ้าหญิงก็ทรงครรภ์ได้หลายเดือนแล้ว จึงเสด็จต่อไปไม่ไหว บอกพระสวามีว่าจะประทับรออยู่ที่นั่น สวามีก็บอกว่าจะไปหาอาหารมาให้ อย่าไปไหน ชายหนุ่มก็ไปแล้วไปลับไม่กลับมาเสียที ปรากฏว่าถูกฆ่าโดยทหารของพระราชบิดาเจ้าหญิงที่สะกดรอยตามมา
ด้วยความเสียใจ นางจึงใช้ปิ่นปักผม แทงพระเศียรของพระองค์จนเลือดไหลออกมาเป็นสาย กลายเป็นแม่น้ำแม่สายในทุกวันนี้ และพระวรกายของพระองค์ที่นอนเหยียดยาวจากทิศใต้จรดทิศเหนือ ก็กลายเป็นดอยนางนอนจนทุกวันนี้
ทางไปอำเภอแม่จัน มีขุนเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว เรียกว่า ดอยนางนอน ดอยส่วนที่ศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือ ดอยจิกจ้อง (เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า) เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดง หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ดอยตุง
เชื่อกันว่า ดอยทั้ง 3 นี้เป็นที่อยู่อาศัยเดิมของลาวจักราช ผู้เป็นต้นวงศ์ของพญามังราย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง เหนือดอยดินแดงเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง อันถือเป็นปฐมธาตุแห่งแรกของภาคเหนือ
ตำนานเรื่องที่ 2 เล่าว่า เจ้าหญิงเมืองพุกามกรีธาทัพออกตามหาเจ้าชายที่นางรัก นางออกรบ มีผู้คนล้มตายมากมาย และขยายอาณาเขตมาเรื่อยๆ จนมาถึง “เวียงสี่ทวง” จึงพบกับเจ้าชาย แต่ปรากฏว่าเจ้าชายหนีหายไปกับสาวสวยชาวเวียงนี้อีกครั้ง นางรู้สึกเศร้าสลดจนตรอมใจตาย
ก่อนตายได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ร่างของนางกลายเป็นเทือกเขา ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ดอยนางนอน” น้ำตาที่ไหลรินกลายเป็น “ขุนน้ำนางนอน” ส่วนไพร่พลของนางก็กลายมาเป็นชนเผ่าหลากชาติพันธุ์บนภูเขาแห่งนี้
ตำนานเรื่องที่ 3 เกี่ยวกับ “พระธาตุจอมนาค” อีกเรื่องว่า พญาครุฑลักพาลูกสาวพญานาค มาแอบซุกซ่อนอยู่ในเทือกเขาแห่งนี้ พญานาคผู้พ่อออกตามหาก็มาพบลูกสาวนอนอยู่กับพญาครุฑในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ ปัจจุบันเรียกว่า “ขุนน้ำนางนอน” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุดอยตุง
พญานาคขอลูกสาวคืน แต่พญาครุฑขอแลกกับทองคำ ทุกวันนี้แหล่งน้ำที่พญานาคนำทองคำขึ้นจากบาดาล มาแลกลูกสาวนั้นเรียกว่า “หนองตานาค” บริเวณที่พญานาคส่งทองคำให้พญาครุฑนั้นเรียกว่า “หนองละกา” แปลว่าพญานาคลาจากสัตว์พวกนกกากลับบาดาล ทองคำถูกนำไปเก็บไว้ที่ “ถ้ำทรายคำ” หรือถ้ำทรายทอง ก่อนกลับไปพญานาคสร้าง “พระธาตุจอมนาค” หมายไว้
ขอขอบคุณข่าวจาก