new

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน ส.ค. 2563 ททท.จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวทางว่าจะมีการขยายระยะเวลาโครงการ หรือ เพิ่มสิทธิพิเศษในโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ หรือไม่ จากเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ต.ค. 2563 หลังจากเปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 แต่พบว่า ว่ามีการใช้สิทธิในโครงการประมาณ 3 แสนห้อง และเช็กอินไปประมาณ 5 หมื่นห้อง จากเพดานกำหนดอยู่ที่ 5 ล้านสิทธิ

โดยเบื้องต้นมองว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลาออกไป รวมไปถึงการเพิ่มสิทธิพิเศษให้กับผู้ร่วมโครงการได้มากขึ้น เนื่องจากการใช้สิทธิในโครงการที่น้อยอยู่อาจจะทำให้ยังมีเงินเหลือที่จะดำเนินการต่อได้ ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด ก่อนเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ พิจารณาก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในลำดับต่อไป

“มีโอกาสเยอะ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พูดชัดเจนว่าจะต้องมีเฟสต่อไป เพราว่าดูจากงบประมาณน่าจะมีเหลือ เพราะตอนนี้ค่าห้องที่ใช้บริการแล้วตกไม่เกิน 3,000 บาท จากเดิมที่เราตั้งเป้าไว้ 7,500 บาท เราช่วย 3,000 บาท แสดงว่ายังมีงบประมาณเหลือ คงต้องมาปรับและอาจจะเป็นไปได้ว่าจะขยายเวลาให้มากขึ้น หรือให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล” ยุทธศักดิ์ กล่าว

ส่วนแพ็กเกจ “กำลังใจ” ที่รัฐบาลให้สิทธิอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมกว่า 1.2 ล้านคน ท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ฟรี มูลค่า 2,000 บาทต่อคนที่ให้สิทธิ ที่ขยายระยะเวลาให้บริษัทนำเที่ยวได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากเดิมที่หมดเขตตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2563 ไปจนถึง 5 ส.ค. 2563 ขณะนี้พบว่ามีผู้ประกอบการสมัครเข้ามาเพิ่มมากกว่า 1,000 รายแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 986 ราย

ทั้งนี้ ททท. อยากให้มีการหยุดยาวเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 12 ส.ค. 2563 เพราะยังเหลือวันหยุดที่เลื่อนมาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีก 2 วัน เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวคนประชาชนส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวก็ยังเน้นวันหยุดยาวเป็นเรื่องสำคัญ หากสามารถมีวันหยุดยาวศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ได้ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่จะดำเนินการอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย ครม.จะเป็นผู้พิจารณา

ส่วนความคืบหน้า Travel Bubble เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังต้องพิจารณาในประเด็นสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะมาตรการด้านสาธารณสุข การป้องกันไม่ให้เกิดระบาดรอบที่ 2 รวมไปถึงข้อกังวลและความสบายใจของคนในประเทศด้วย ดังนั้นมาตรการข้างต้นจึงจะยังไม่สรุปในเร็วๆ นี้


ขอขอบคุณข่าวจาก