news

จุดสิ้นสุดของชีวิตอยู่ตรงไหน?

สำหรับคนทั่วๆ ไป มันอาจจะอยู่ตรงที่ลมหายใจสุดท้าย แต่สำหรับคนที่บริจาคร่างกายมาเป็น “อาจารย์ใหญ่” ความตายเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะมันจะพาคุณไปยังอีกโลกหนึ่ง โลกที่ความตายจะเปลี่ยนคุณเป็น “ผู้ให้”

ขอพา “คนเป็น” ไปรู้จักโลกหลังความตายในทางวิทยาศาสตร์ ณ ห้องเรียนกายวิภาค ของนิสิตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ที่มีตั้งแต่การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย และเรื่องราวหลังความตายของ “อาจารย์ใหญ่” ครูผู้ไร้ชีวิต

ต้องยอมรับว่าการเป็น “อาจารย์ใหญ่” คือประสบการณ์เฉพาะ นอกจากบุคลากรสายแพทย์แล้วก็แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าความเป็นอยู่ของอาจารย์ใหญ่นั้นเป็นแบบไหน เส้นทางตั้งแต่หมดลมหายใจไปจนถึงเตียงเหล็กในชั้นเรียนกายวิภาคเป็นอย่างไร

เพื่อหาคำตอบนี้ เราพยายามติดต่อโรงเรียนแพทย์หลายแห่งเพื่อขอเข้าไปเก็บข้อมูล แต่โชคร้ายตรงที่มันเป็นช่วงปิดเทอม ไม่มีการเรียนการสอนกายวิภาค ความคิดเรื่องจะไปเก็บบรรยากาศชั้นเรียนเป็นอันตกไป

แต่ในความโชคร้ายของเรายังมีความโชคดีอยู่บ้าง หลังจากติดต่อโรงพยาบาลจุฬาฯ เราจึงได้ทราบว่าที่นี่มีศูนย์ฝึกผ่าตัด ซึ่งก็เป็นการเรียนกับอาจารย์ใหญ่เช่นกัน
คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับที่นี่ จาก รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ ผอ.ศูนย์ฝึกผ่าตัด ทำให้เรารู้ว่าไม่ได้มีแต่นิสิตแพทย์ชั้นปี 2 เท่านั้นที่ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ แต่หมอที่ต้องฝึกผ่าตัดด้วยวิทยาการใหม่ๆ และอาจารย์หมอที่ต้องการทบทวนความรู้ก่อนเข้าไปสอนในชั้นเรียนก็เช่นกัน
ทันทีที่ผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิต ญาติก็จะแจ้งให้ทางโรงพยาบาลทราบ หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะไปรับศพมาเข้าสู่กระบวนการตรวจฆ่าเชื้อและรักษาสภาพ ทุกขั้นตอนจะเป็นไปด้วยความเคารพที่มีต่อจิตอันเป็นกุศลของผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

อาจารย์ธันวา เล่าว่าสาเหตุที่เรียกศพของผู้บริจาคร่างกายว่า “อาจารย์ใหญ่” ก็เพราะต้องการยกย่องให้อยู่เหนือกว่าการเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในกรณีทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นการเรียกตามกันมาเรื่อยๆ ในวงการแพทย์ และกลายเป็นคำที่ใช้กันในวงกว้าง

ด้วยความเชื่อเรื่องบุญกุศลของคนไทย เราจึงไม่มีสภาวะขาดแคลนอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาเท่าไรนัก แต่ก็ใช่ว่าผู้บริจาคร่างกายทุกคนจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่

จากคำบอกเล่าของ อาจารย์ธันวา ผู้ที่มีเชื้อวัณโรค เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบีและซี จะไม่สามารถนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือผู้ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เพราะจะติดคดีความ ไม่สามารถเอามาเก็บรักษาได้เช่นกัน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะไม่รับผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ถูกตัดอวัยวะ หรือโรคที่ทำให้อวัยวะผิดรูปร่าง เพราะเราเอามาให้นักเรียนแพทย์ศึกษา พื้นฐานร่างกายต้องมีครบ แต่เดี๋ยวนี้เราเอามาให้แพทย์เฉพาะทางได้ศึกษาด้วย ก็รับได้หมด เพราะถึงจะโดนตัดลำไส้หรือเต้านม ก็ยังใช้ฝึกผ่าเข่าได้ เอามาฝึกส่องกล้องเวลาผ่าตัดช่องท้องก็ได้”

แม้กระทั่งผู้เสียชีวิตที่มีรูปร่างอ้วนมากๆ ก็อาจจะไม่สามารถมาเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ในยุคก่อนๆ เพราะไม่มีเตียงที่ใหญ่กว่าร่าง แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วในปัจจุบัน เพราะคนไข้จริงๆ ที่แพทย์ต้องไปเจอก็มีคนอ้วนที่น้ำหนักเกิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาจารย์ใหญ่รูปร่างอ้วนให้ได้ฝึกฝน

“ในเคสของคนอ้วน เราจะเจอไขมันหนามาก แล้วมันจะเป็นอุปสรรคในการรักษา สมัยก่อนเราผ่าตัดแบบเปิด ถ้าเป็นคนอ้วนแผลจะใหญ่มาก เพราะหมอต้องสุมหัวกัน อย่างน้อย 3 คนชะโงกเข้าไปดู ถ้าหมอไม่เคยฝึก ไม่เคยเห็น คนไข้จะน่าเป็นห่วงมาก” อาจารย์ธันวา บอกว่า ความปลอดภัยของคนไข้เป็นเป้าหมายสูงสุดของหมอในทุกยุคทุกสมัย

“ที่นี่เราให้อาจารย์ใหญ่อยู่คอนโด อยากดูไหม เดี๋ยวพาไปดู”

อาจารย์ธันวา พูดแบบทีเล่นทีจริง แต่ไหนๆ มาแล้วก็อย่าให้เสียเที่ยว เราตัดสินใจตอบตกลง ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับภาพแบบไหน แต่เราก็ควรได้ภาพกลับไปฝากคนอ่าน

หลังจากฉีดน้ำยารักษาสภาพเข้าไปทั่วร่างกายแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บรักษา ซึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้ใช้บ่อดอง แต่จะใส่ถุงพลาสติก 2 ชั้น เป็นภาชนะเฉพาะของแต่ละท่าน หลังจากนั้นจึงนำไปขึ้นชั้นวางในห้องเย็น เรียกกันว่า “คอนโดอาจารย์ใหญ่”

อาจารย์ธันวา พาเราขึ้นมาที่ชั้น 6 ตึกแพทยพัฒน์ สถานที่เก็บรักษาร่างของอาจารย์ใหญ่ บรรยากาศที่นี่ค่อนข้างวังเวง ไม่ใช่เพราะที่นี่มีร่างของอาจารย์ใหญ่นับร้อยร่าง แต่เป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ “พี่มนตรี”

หน้าที่ของ พี่มนตรี จะเริ่มตั้งแต่รับร่างของอาจารย์ใหญ่มาตรวจหาเชื้อโรค ฉีดน้ำยารักษาสภาพ และดูแลอาจารย์ใหญ่ในห้องเย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมนำไปศึกษา เรียกได้ว่าเป็นงานที่คลุกคลีกับอาจารย์ใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนจบ และพี่มนตรีก็ทำงานนี้มา 20 ปีแล้ว

แค่ฟังเส้นทางอาชีพก็แทบไม่ต้องถามว่า “กลัวผีมั้ย?” เพราะถ้ากลัวคงไม่อยู่ที่นี่นานขนาดนี้ ลำพังตัวเขาเองไม่มีปัญหาอะไร แต่บ่อยครั้งที่คนรอบข้างอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเขาจึงเลือกทำงานที่ใกล้ชิดกับความตายแบบนี้

ประตูห้องเย็นเป็นแผ่นเหล็กขนาดใหญ่บนล้อเลื่อน มันถูกปิดล็อกอย่างแน่นหนา เราหยุดยืนกันที่หน้าประตู ฝ่ายเจ้าบ้านมีท่าทีสบายๆ ตรงข้ามกับผู้มาเยือนอย่างเราที่มีอาการหน้าซีดอย่างเห็นได้ชัด

จังหวะที่เจ้าบ้านค่อยๆ เปิดประตูเหล็กบานนั้น ภาพที่อยู่อีกด้านของประตูทำให้เรารู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราเห็นในหนังสยองขวัญ

“กลางวันกับกลางคืนของที่นี่ไม่ต่างกัน ไฟฟ้าเปิดสว่างทั่วตึกตลอดเวลา ผมเข้ากะดึกก็สว่างแบบนี้” พี่มนตรีเล่า

ดูผ่านๆ มันเหมือนชั้นวางของทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ เมื่อตั้งใจมองให้ดีจึงรู้ว่ามันคือถุงพลาสติกบรรจุร่างคนที่มีซิปเปิดปิดอยู่ด้านข้าง นอกจากความเย็นเยียบจับขั้วหัวใจแล้ว ในห้องนี้ยังมีกลิ่นน้ำยาเคมีจางๆ ลอยออกมาตามแรงดันจากท่อ มันคือไอจากน้ำยาผสมฟอร์มาลีนสำหรับรักษาสภาพศพ น่าแปลกที่กลิ่นของมันไม่ได้รุนแรงเท่าที่เราจินตนาการเอาไว้

ห้องนี้คือจุดสุดท้ายก่อนที่จะนำร่างของอาจารย์ใหญ่ไปศึกษา แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น ต้องมี พิธี “อาจาริยบูชา” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนที่นิสิตแพทย์ของที่นี่จะเริ่มเรียนวิชากายวิภาค

“มันก็คือการขอขมา การปฏิญาณตน เราก็จะตักบาตรร่วมกันกับญาติของอาจารย์ใหญ่ เรามอบหมายแล้วว่านิสิตจะเรียนกับอาจารย์ใหญ่ท่านไหน นิสิตก็จะไปติดต่อญาติของอาจารย์ใหญ่ท่านนั้นให้มาทำบุญตักบาตรด้วยกัน เขาก็จะทำความรู้จักกัน” อาจารย์ธันวาเล่า

จะเรียกว่า “ไทยแลนด์ โอนลี่” ก็คงไม่ผิด เพราะมีแต่ประเทศไทยที่มีพิธีกรรมแบบนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นจะพยายามไม่ให้ผู้เรียนกับญาติๆ ของอาจารย์ใหญ่ได้รู้จักกัน เพราะอาจมีการเรียกร้องผลประโยชน์ตามมา
“นี่เป็นข้อดีของบ้านเรา ญาติๆ ก็เคารพในเจตนาของผู้บริจาคร่างกาย คนไทยเราให้ก็คือให้จริงๆ ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ตามมา เป็นการให้ด้วยใจบริสุทธิ์ เราถือว่าต้องขอบคุณญาติๆ ด้วย”

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่มาพอสมควร เราก็ได้เห็นการเก็บรักษาสภาพก่อนที่จะนำไปศึกษา และคงจะเป็นความน่าเสียดายอย่างที่สุด หากไม่ได้เห็นบรรยากาศการเรียนกับอาจารย์ใหญ่

ถึงเราจะโชคไม่ดีที่มาตรงกับช่วงปิดเทอม แต่ในวันที่เราไปเก็บข้อมูล อาจารย์หมอหลายๆ คนกำลังทบทวนความรู้อยู่กับอาจารย์ใหญ่เพื่อเตรียมตัวไปสอนนิสิตแพทย์ในวันเปิดเทอม
ทันทีที่ออกจากคอนโดของอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ธันวาก็พาทีมของเรามายังห้องเรียนกายวิภาค มันเป็นห้องโล่งๆ ที่มีจุดดึงดูดสายตาอยู่เพียงจุดเดียว คืออาจารย์หมอที่ยืนอยู่รอบๆ เตียงเหล็กกับอาจารย์ใหญ่ในสภาพที่ถูกผ่าเปิดออกมาแล้วเกือบทั้งตัว

ถ้าคนทั่วไปแยกโลกของคนเป็นและคนตายออกจากกัน ในห้องนี้ก็คงมีเส้นแบ่งระหว่างสองโลกนั้นบางมาก หรืออาจจะไม่มี และในฐานะที่เราเป็นคนทั่วไป ยอมรับว่าภาพตรงหน้าทำให้เราหายใจไม่ทั่วท้องตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็น

เหมือนกับว่าแสงไฟทั้งหมดในห้องนี้สาดส่องไปที่จุดเดียวกัน เตียงเหล็กกลางห้องสว่างจ้าท้าทายสายตาของผู้มาเยือน ไม่มีทางที่จะทำเป็นมองไม่เห็นได้เลย มันชัดเจนมากจนเราต้องใช้เวลาสักพักในการข่มความกลัว

ผิวหนังของ อาจารย์ใหญ่ ถูกกรีดออกมาเป็นแผ่นๆ อย่างมีระเบียบ ด้วยความคมของมีดผ่าตัด บวกกับประสบการณ์ของอาจารย์หมอ หากตัดความกลัวออกไปได้ คงต้องยอมรับว่าภาพตรงหน้าไม่ต่างไปจากการทำงานศิลปะบนร่างกายมนุษย์ โดยฝีมือของจิตรกรเอก

ตั้งแต่แขน ขา และช่องอก ไปจนถึงรูหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ลึกที่สุด ทั้งหมดจะถูกเปิดออกมา เผยให้เห็นกล้ามเนื้อทุกมัด เส้นเลือด และเส้นเอ็น มันคือการทำความรู้จักกับร่างกายของมนุษย์ทุกซอกทุกมุมอย่างแท้จริง

ผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์จะไม่คิดว่าการคลุกคลีกับคนตายในระยะเผาขนแบบนี้ เป็นเรื่องที่ชวนขนหัวลุก แต่ตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่า “อาจารย์ใหญ่” คือผู้สร้างคุณูปการสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะให้กับคนรอบข้างได้

สำหรับคนทั่วไป เมื่อได้ฟังเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องผีๆ สางๆ ด้วยความที่เรื่องทำนองนี้อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน แต่สำหรับคนที่อยู่กับอาจารย์ใหญ่มาเป็นเวลาหลายสิบปีอย่าง อาจารย์ธันวา มีเหตุผลที่ชวนให้เชื่อได้ว่าความกลัวอาจเป็นสิ่งที่ใจของเราสร้างขึ้นมาเอง

“ถ้าคุณบริจาคร่างกายมาแล้ว คุณคิดจะมาหลอกให้ผมกลัวหรือเปล่า ก็คงเปล่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัว ในเมื่ออาจารย์ใหญ่ทุกท่านมีจิตเป็นกุศล ตอนเด็กๆ ผมก็กลัว เพราะเราถูกสอนให้เชื่อแบบนั้น แต่พอมาเป็นหมอ เราได้เจอคนไข้ เราเห็นคนเจ็บป่วย พอเกิดความสงสารก็เข้าใจได้ว่าเราสงสารคนไข้แค่ไหน เราก็ยิ่งต้องใส่ใจกับการเรียนจากอาจารย์ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น”

อาจารย์ธันวา เล่าว่า หน้าที่ของทุกคนในที่นี้คือการให้เกียรติ อาจารย์ใหญ่ เพราะเป็นที่มาของความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานในการรักษาที่นักเรียนแพทย์จะนำไปใช้ในการช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก

จนถึงตอนนี้ เราพบว่าความกลัวที่เรามีในตอนแรกเป็นแค่เรื่องผิวเผิน เพราะถ้าจะคิดให้ถี่ถ้วนแล้ว การเป็น อาจารย์ใหญ่ คือโอกาสในการทำความดีที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่ควรมองข้าม

ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีการศึกษาระดับไหน ประกอบอาชีพอะไร รวยหรือจน ร่างกายของเราก็มีประโยชน์เสมอสำหรับนักเรียนแพทย์ การให้ของเราจะทำให้ผู้ป่วยอีกหลายๆ รายมีโอกาสรอดชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ

มันคือการให้ที่ยิ่งใหญ่จนทำให้เราไม่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าทำหน้าที่ของการเป็นมนุษย์ได้ดีพอหรือยัง เราจะเลิกสงสัยในคุณค่าของตัวเอง เพราะคงไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้ชีวิต

และถ้าโลกหลังความตายของอาจารย์ใหญ่มีอยู่จริง มันคงเป็นโลกที่สวยงามไม่น้อย เพราะมันคือโลกของผู้ให้ ไม่ได้เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีเหมือนโลกของคนเป็น


ขอขอบคุณข่าวจาก