นักลงทุนหลายๆคนเวลาเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ถ้ามาทางสายปัจจัยพื้นฐาน ก็ดูเหมือนจะสนใจทางด้านบริษัทมากกว่าอัตราส่วนทางการเงินเป็นยังไง บริษัทมั่นคงแค่ไหน ผลประกอบการดีมั้ย ฯลฯ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่นี้จะเป็นในเชิงตัวเลขเป็นหลัก อย่างที่นานิเคยได้พูดเรื่องการอ่านงบการเงินไปแล้วในคราวก่อน แต่ปัญหาคือ การลงทุนในหุ้นมันไม่ได้มีแค่นี้ ถ้าเอาเรื่องตัวเลขอย่างเดียว เด็กที่เรียนด้านการเงิน หรือคนที่คำนวณเก่งๆ ก็คงประสบความสำเร็จและร่ำรวยจากตลาดหุ้นกันหมดทุกคนไปแล้ว นานิคิดว่าการจะเป็นนักลงทุนในหุ้นนั้น มีเรื่องที่ต้องดูแลอยู่ 5 ข้อ (เริ่มใหม่ๆอาจจะไม่ต้องดูทั้งหมดก็ได้ค่ะ ค่อยๆเพิ่มไปทีละข้อ ^_^)

new
1. Quantitative แบบนี้จะเป็นเรื่องตัวเลขต่างๆ
2. Qualitative เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ
3. Market Feel ดูเรื่องอารมณ์ตลาด
4. Psychology จิตวิทยาการลงทุน
5. Money Management การบริหารจัดการเงินลงทุน
วันนี้ขออธิบายเรื่อง Quantitative ก่อนละกันค่ะ แล้วบทความหน้าไปเรื่อยๆจะทยอยมาพูดถึงข้ออื่นๆ เรื่องตัวเลขเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะดูอยู่ด้วยกัน 3 อย่างใหญ่ๆ คือ
1. เรื่องงบการเงิน: ในนี้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ก็ควรจะโฟกัสประมาณ 3 จุดหลักๆก็คือ รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรสุทธิ ดูว่าการเติบโตของรายได้เป็นยังไง บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายมั้ย แล้วสุดท้ายแล้วกำไรสุทธิมันออกมาสวยรึเปล่า แต่อย่างที่นานิเคยบอกไปตอนที่แล้ว ไอ้ตัวเลขในอดีตมันดีก็เรื่องนึง เราต้องดูไปที่ catalyst ที่กำลังจะเกิดขึ้น เวลามีข่าวอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของหุ้นเรา ก็วิเคราะห์เลยว่า โอเค ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอีก 3 เดือน บริษัทเราจะมีรายได้เพิ่มมั้ย หรือค่าใช้จ่ายลดลงรึเปล่า จะได้มีกำไรเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ลบค่าใช้จ่ายมันคือกำไร เช่น ราคาเหล็กลดลง โรงงานที่แปรรูปเหล็กก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง หรือ ราคาน้ำมันลดลง สายการบินก็มีต้นทุนน้อยลงด้วย แบบนี้ =)
2. ตัวเลขทางการเงิน (จริงๆก็อยู่ในงบการเงินนะ) เพื่อแสดงตัวตนและความสามารถของบริษัท แล้วก็ฐานะทางการเงิน บวกกับความถูกแพง ที่เรามักพบเห็นบ่อยๆคือ D/E เพื่อดูว่าหนี้เยอะแค่ไหน, Profit Margins (อัตรากำไร มี 3 แบบคือ Gross PM, Operating PM และ Net PM) ดูว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรมากเท่าไหร่, ROE, ROA แถมยังมีเรื่อง P/E, P/BV อีก หลายคนดูแล้วงง ลองเข้าไป Search หาอ่านเพิ่มเติมกันได้นะค่ะ โดย Search คำว่า “การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)”


3. มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท อันนี้ก็มีวิธีการหาโดยการทำโมเดลทางการเงิน ซึ่งมีหลายวิธีมากๆ แต่ที่นิยมกันจะมีสองแบบคือ DCF (Discounted Cash Flow) กับการประเมินมูลค่าแบบ Relative Valuation คือเทียบอัตราส่วนทางการเงินกับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน มูลค่านี่หายากมาก ขนาดนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์เป็นสิบปีก็คำนวณพลาดได้ นานิแนะนำว่ามือใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งมือเก๋าที่ไม่ค่อยมีเวลา ใช้วิธีโทรไปคุยกับนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆที่เราเปิดพอร์ทไว้ดีกว่า แล้วก็มาเปรียบเทียบกับว่าโบรกฯให้มูลค่าพื้นฐานหุ้นแต่ละตัวเท่าไหร่ แล้วเค้ามีเหตุผลอะไรบ้างถึงให้มูลค่าต่างกัน ยกตัวอย่างแบบย่อๆง่ายๆเช่น โบรกฯ อาจจะให้มูลค่าพื้นฐานหุ้นก่อสร้างตัวนึงที่ 15 บาท เพราะคิดว่ารายได้จะเติบโต 10% ในขณะที่อีกโบรกบอกว่าราคาน่าจะเป็น 20 บาท เพราะรายได้น่าจะเติบโต 20% แบบนี้ถ้าเราคิดว่ารายได้น่าจะโตน้อยกว่า 10% เราก็ประมาณการได้ว่าราคาควรต่ำกว่า 15 บาทนะ อะไรแบบนี้ค่ะ =)
หลายคนไม่รู้เรื่องนี้ ว่าเราสามารถโทรคุยกับนักวิเคราะห์ที่โบรกเกอร์ได้ ไม่จำเป็นต้องคุยกับแค่มาร์เก็ตติ้งอย่างเดียว นักวิเคราะห์จะรู้เยอะกว่ามาร์ส่วนใหญ่ เพราะเค้าไปเยี่ยมชมบริษัท แล้วก็ติดตามกิจการอย่างละเอียด ว่างๆก็โทรไปคุยกับเค้าเรื่องหุ้นที่กำลังถืออยู่หรือหุ้นที่กำลังอยากซื้อดูน้า =) แล้วบทความหน้า นานิจะอธิบายในหัวข้ออื่นๆต่อไปค่ะ อย่าเพิ่งท้อนะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่า


ขอขอบคุณข่าวจาก