เมื่อสมัยต้นๆ รัชกาลที่ ๕ ที่วัดสระเกศเป็นแหล่งรวมของแร้งจำนวนมาก สาเหตุที่มันมาอยู่ที่วัดนี้ ก็เนื่องจากสมัยนั้น ทางคุกเอาศพนักโทษมาทิ้งที่วัดนี้เพื่อให้เป็นเหยื่อของแร้งกากิน
นอกจากศพของนักโทษแล้ว บางทีศพของคนยากจนซึ่งไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่สามารถจะเผาได้ ก็ถูกนำมาทิ้งไว้ให้แร้งกินเช่นเดียวกัน
วัดสระเกศเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับประตูผี ซึ่งเป็นประตูเมืองเพียงประตูเดียว ที่ให้เอาศพของคนที่ตายภายในกำแพงเมืองออกไปเผานอกเมืองตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ
ดังนั้น วัดสระเกศจึงเป็นวัดที่ใครๆ ก็พากันเอาศพมาทิ้งหรือมาไว้ที่วัดนี้ เพราะสะดวกในการไปมาในครั้งกระนั้นยิ่งกว่าวัดอื่นๆ
ความจริงที่วัดสระเกศ มีฝูงแร้งคอยกินซากศพคนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ แล้ว เพราะครั้งนั้นได้เกิดอหิวาตกโรคหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “โรคห่า” หรือ “ไข้ป่วงใหญ่” ขึ้นในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง ปรากฏว่ามีคนตายเป็นจำนวนมาก ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เพียง ๑๕ วันกว่าๆ เท่านั้น คนตายด้วยโรคนี้เป็นจำนวนถึง ๓ หมื่นคน ถึงขนาดศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้า และศาลาดินวัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชฯ) วัดบพิตรภิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด กองเป็นภูเขาเลากาจนศพก่ายกันเหมือนกองฟืน แม้แต่ในแม่น้ำลำคลองก็เต็มไปด้วยซากศพจนใช้กินใช้อาบไม่ได้
โดยเฉพาะที่วัดสระเกศ เนื่องจากมีศพมากกว่าวัดอื่นๆ ไม่สามารถที่จะเผาและฝังได้ทันที จึงต้องขุดหลุมขนาดใหญ่ แล้วเอาศพทิ้งลงไปในหลุมสุมกันอยู่อย่างนั้น จนมีฝูงแร้งกาและหมามาลงมากินเป็นประจำ
มีเรื่องเล่าว่า แร้งที่มาลงกินศพที่วัดสระเกศตัวหนึ่ง เป็นแร้งที่อยู่ถึงเมืองพิจิตรโน่น แร้งตัวนี้มีชื่อว่า “หงส์ทอง” เป็นแร้งที่พระภิกษุเมืองพิจิตรรูปหนึ่งเลี้ยงไว้จนเชื่องตั้งแต่ยังเป็นลูกแร้ง โดยพระภิกษุรูปนั้นได้เอาผ้าแดงผูกคอไว้เป็นเครื่องหมาย
สาเหตุที่ทราบว่าเป็นแร้งเมืองพิจิตร ก็เนื่องพระภิกษุรูปนั้นลงมากรุงเทพฯ ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นต้องมาทางเรือเป็นแรมเดือน ได้มาพบหงส์ทองของท่านกำลังจิกกินซากศพที่วัดสระเกศเข้าโดยบังเอิญ
เรื่องแร้งวัดสระเกศนี้ จากในหนังสือนาวิกะศาสตร์เรื่อง “ฝรั่งเศส-สยาม ร.ศ. ๑๑๒” ซึ่งเป็นรายงานของเรือเอก หลุยส์ ดารติช ดูฟูรเนต์ ผู้บังคับการเรือโคเมตของฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ระหว่างเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง แล้วผู้นำเที่ยวได้พามาที่วัดสระเกศ ได้บรรยายถึงสภาพของแร้งวัดสระเกศและสถานที่ทิ้งศพไว้ว่า
เมื่อได้เห็นและได้กลิ่นซากศพ ภาพนกอันน่าเกลียด ซึ่งกำลังเกาะอยู่บนหลังคาวัดผุๆ พังๆ เพื่อคอยอาหารของมัน และได้ฟังคำอธิบายจากพระภิกษุรูปร่างพิลึกน่ากลัว ในบริเวณอันน่าสลดใจนี้ ก็ได้ทำให้เกิดความอึดอัดใจเสมือนฝันร้าย และกล่าวว่าสภาพที่นี้เป็นนรกอเวจีส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่ประหลาดที่สุดของกรุงเทพฯ
เรือเอก หลุยส์ ดารติช ดูฟูรเนต์ ยังได้ระบายความรู้สึกในเรื่องการทิ้งศพให้แร้งกินว่า กรุงเทพฯ มีทั้งอาระธรรมสมัยเก่ากับอารยะธรรมสมัยใหม่ควบคู่กันไป เพราะกรุงเทพฯ สมัยนั้น มีไฟฟ้าใช้แล้ว ตามถนนสายต่างๆ มีรถรางไฟฟ้าวิ่ง มีสายโทรเลข โทรศัพท์ระเกะระกะทั่วๆ ไป มีเรือจอดในแม่น้ำ มีโรงทหารแบบยุโรป และใช้ปืนเล็กแบบใหม่สุด แม้แต่รถไฟก็มีวิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเจริญแบบใหม่ที่ไทยนำมาใช้ แต่ก็ยังมีความรู้สึกนึกคิด จารีตประเพณีโบราณระคนปนอยู่ด้วย เช่น การทิ้งซากศพให้แร้งกิน เป็นต้น