อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ. เมือง จ. พิษณุโลก
รายละเอียด ทุ่งสะวันนาแห่งพื้นป่าไทย อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร สำหรับชื่อของอุทยานแห่งชาติเป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นโดยอาศัยชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลสุกสีแสด เมล็ดให้สารสตริคนิน ซึ่งเป็นสารเบื่อเมา คาดว่าในสมัยก่อนมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า “ทุ่งแสลงหลวง” ให้สมกับเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติไว้
ความเป็นมา: มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2503 กรมป่าไม้จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจและหมายแนวเขตป่าทุ่งแสลงหลวง เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง เนื้อที่ประมาณ 801,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลชมภู ตำบลบ้านมุง อำเภอวังทอง ตำบลหนองกระท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดจังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าผล อำเภอเมือง ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 80 ตอนที่ 11 ลงวันที่ 29 มกราคม 2506 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศ
ต่อมากองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้มีหนังสือที่ กห 0334/137 ลงวันที่ 7 มกราคม 2514 ขอใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดตั้งกองร้อยชาวเขาอาสาสมัคร กรมป่าไม้ จึงได้นำเสนออนุกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2514 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 มีมติเห็นควรให้ทำการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวให้ทางราชการทหาร โดยออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้เป็นพื้นที่หวงห้ามทางราชการทหารต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงบางส่วน และกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นใหม่ รวมเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89 ตอนที่ 190 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
ต่อมาอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงได้มีหนังสือที่ 49/2517 ลงวันที่ 17 เมษายน 2517 รายงานว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 357 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กำหนดให้บริเวณที่ดินป่าทุ่งแสลงหลวงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า การประกาศมิได้ระบุบางตำบลที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไว้ด้วย กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2517 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2517 มีมติให้ขยายบริเวณที่ดินส่วนที่มิได้ระบุในประกาศคณะปฏิวัติให้ถูกต้อง โดยมีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติและกำหนดบริเวณที่ดินทุ่งแสลงหลวงในท้องที่ตำบลวังนกนางแอ่น ตำบลชมภู อำเภอหล่มสัก ตำบลท่าพล อำเภอเมือง ตำบลวังโปร่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 92 ตอนที่ 101 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 รวมพื้นที่ 789,000 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร เนื่องจากภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทราย ลักษณะของภูเขาจะเป็นภูเขายอดตัดหรือมีที่ราบบริเวณยอดเขา แต่บริเวณร่องเขาจะลึก และมีความลาดชันสูง เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่ง่ายต่อการถูกกัดเซาะ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ่ม คลองชมภู คลองน้ำปอย คลองวังทอง และห้วยกอก เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ ในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,300-1,700 มิลลิเมตรต่อปี โดยมีปริมาณมากที่สุดในเดือนกันยายน และในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว
พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงประกอบด้วย 1. ป่าดิบเขา พบขึ้นอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไปชนิดไม้สำคัญที่พบเป็นไม้เด่นได้แก่ หว้าหิน ก่อหิน ก่อเดือย ก่อตาหมู หว้าดง ทะโล้ ตำแยต้น กระดูกไก่ สนสองใบ ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกมอส เฟิน เถาวัลย์ หวาย และว่านชนิดต่างๆ
2. ป่าดิบชื้น พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป และตามร่องน้ำ หรือที่ลาดเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ก่อตลับ ตาเสือ มะไฟ ดำดง ชะมวง มะกอก ยมหอม ยางโดน กระเบากลัก จำปาป่า ตะเคียนหิน อบเชย พญาไม้ ฯลฯ พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา มะพร้าวนกคุ่ม ม้ากระทืบโรง หวาย เฟิน และพืชในตระกูลขิงข่า เป็นต้น
3. ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ยอป่า เต็งตานี มะหาด ยางโดน ยางนา แคทราย กระบาก มะกล่ำต้น ขี้อ้าย ก่อข้าว กฤษณา ฯลฯ
4. ป่าสนเขา ขึ้นอยู่ในที่สูง 700 - 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า มีสนสองใบ เหียง เหมือดแอ เหมือดคน ส้านใหญ่ ชะมวง ตับเต่าต้น ฯลฯ ขึ้นอยู่ พืชพื้นล่างเป็นหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง บุก กระเจียว และเฟิน เป็นต้น
5. ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ในระดับความสูง 400-700 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบกเปลือกบาง กระบาก ซ้อ ปอสำโรง เก็ดดำ ตีนนก แต้ว พลับพลา ชิงชัน พะยูง โมกมัน ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ชนิดต่างๆ กลอย กระทือ ว่านมหากาฬ โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น
6. ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ในระดับความสูงประมาณ 400 เมตร ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ รัง เหียง กราด พลวง เต็ง มะม่วงป่า ตับเต่าต้น ส้านใหญ่ มะเกิ้ม งิ้วป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าเพ็ก หญ้าคา หญ้าขน บุก กวาวเครือ กระเจียว ไพล เป็นต้น
7. ทุ่งหญ้า เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ ประกอบด้วยหญ้าชนิดต่างๆ มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ในสภาพแคระแกร็นประกอบด้วย เหมือดคน ส้านใหญ่ เหียง มะขามป้อม พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าขน หญ้าคมบาง หญ้าคา พง กระเจียว กลอย บุก ก้ามกุ้ง ก้ามปู ว่านมหากาฬ ข่าป่า อบเชยเถา คราม และเป้ง เป็นต้น
สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ประกอบด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่ากระแตธรรมดา กระรอกหลากสี กระเล็น หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง นกเขาเปล้าธรรมดา นกแอ่นตาล นกตะขาบทุ่ง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดเหลืองหัวจุก นกจับแมลงหัวเทา เต่าหับ ตะพาบน้ำ ตะกวด ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบ้าน จิ้งเหลนหลากหลาย งูลายสอธรรมดา งูทางมะพร้าวธรรมดา งูเขียวหัวจิ้งจก อึ่งกรายลายเลอะ เขียดอ่อง กบหนอง ปาดแคระธรรมดา เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาที่อาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลาซิว ปลาพุง ปลาขาว ปลาเขียว ปลามุด ปลาติดหิน ปลารากกล้วย และปลากั้ง เป็นต้น
การเดินทาง การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สามารถเข้าได้หลายทาง ทางที่สะดวกที่สุดคือ จากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข12 สายพิษณุโลก - หล่มสัก ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|