ผีตาโขน

เทศกาลผีตาโขน เป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม อันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย


ผีตาโขน  
อ. ด่านซ้าย จ. เลย
 

รายละเอียด
เทศกาลผีตาโขน เป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม อันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งได้ยึดถือสืบทอด มาตั้งแต่ครั้งบรรพการ

"เทศกาลผีตาโขน"นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "งานบุญหลวง" ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น โดยรวมเอา "งานบุญพระเวส" ( ฮีตเดือนสี่ ) และ "งานบุญบั้งไฟ" (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้ในงานบุญเดียวกัน

งานบุญพระเวส หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า"บุญผะเวด" นั้น เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือว่าจะได้อานิสงส์แรงกล้า บันดาลให้พบพระศรีอาริยเมตไตรยในชาติหน้า

ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

ในงานบุญหลวงนี้จะมีกองทัพ "ผีตาโขน" ออกวาดลวดลายทั่วเมืองด่านซ้าย ร่วมสร้างความสนุกสนานครื้นเครง

มีความเชื่อว่า "ผีตาโขน" น่าจะเกิดจาก พระเวสสันดรชาดก ตอนที่ว่า พระเจ้ากรุงสัญชัย ได้เดินทางสู่เขาวงกต เพื่อกราบบังคมทูลเชิญ พระเวสสันดร และพระนางมัทรี ให้เสด็จออกจาป่าวงกตกลับมาครองราชสมบัติดังเดิม พระเวสสันดรจึงทรงรับสั่งให้มีการจัดงานรื่นเริงให้กับชาวบ้านในบริเวณป่าวงกต และด้วยเมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดร เหล่าสรรพสัตว์ และดวงวิญญาณต่าง ๆ ในละแวกนั้นพลอยได้รับผลบุญกันถ้วนหน้า และในวันที่ พระเวสสันดรเสด็จนิวัติสู่นคร ดวงวิญญาณต่าง ๆ ก็พากันอาลัยรัก และตามมาส่งเสด็จ จนกลายเป็นคำว่า "ผีตามคน" และเพี้ยนเป็น "ผีตาโขน" ในทุกวันนี้

วันแรก พิธีเบิกอุปคุต
จากความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า งานบุญใหญ่ใด ๆ มักจะมีมารมาคอยผจญ จึงต้องเชิญพระอุปคุตผู้มีฤิทธิ์มากมาช่วยปราบมาร ดังนั้นจึงต้องมี พิธีเบิกพระอุปคุต ก่อนงานบุญหลวงทุกครั้ง โดยปกติพิธีเบิกพระอุปคุตนั้น จะเริ่มตอนใกล้เช้ามืดประมาณตี 3 หรือตี 4 ในการทำพีธีนั้นคณะของแสนทุกคนจะนำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ มีมีด ดาบ หอก ฉัตร ถือเดินนำขบวนจากวัดโพนชัยไปที่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน เพื่อเชิญพระอุปคุต (คือก้อนกรวดสีขาว) ในแม่น้ำ เล่าขานกันว่าเมื่อมีงานบุญใหญ่โตมักจะมีพวกมารผจญ จึงต้องเชิญพระอุปคุตมาเพื่อช่วยปราบมารให้ราบคาบ เมื่อได้พระอุปคุตแล้วจะนำใส่หาบ เคลื่อนขบวน กลับมาทำพิธีที่หออุปคุต วัดโพนชัยในตอนรุ่งเช้าจะมีขบวนแห่ไปบ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อทำพิธี บายศรีสู่ขวัญให้แก่ เจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม เมื่อได้เวลาอันสมควรเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะแสน นางแต่งบรรดาผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนน้อยทั้งหลาย ตลอดจนขบวนเชิ้ง จะร่วมกันเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดโพนชัย เวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ซึ่งจะมีผีตาโขนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เที่ยวหลอกล้อผู้คนที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน

วันที่สอง พิธีแห่พระเวส
จะเป็นวันที่สมมติว่า พระเวสสันดรเสด็จนิวัติสู่พระนคร โดยมีผีต่าง ๆ คอยตามขบวนแห่มาส่งเสด็จ บรรดาผีตาโขนจะเริ่มเล่นกันตั้งแต่เช้า ส่วนใหญ่จะรวมเล่นกันอยู่ที่วัดโพนชัย วาดลวดลายเต้นตามจังหวะดนตรีที่สนุกสนานครื้นเครงจนถึงเวลาอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ( แห่พระเวส ) เมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย จะเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ ในระหว่างเคลื่อนขบวนจะมีการโปรยกัลปพฤกษ์ ซึ่งก็คือเหรียญเงิน เหรียญทอง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแย่งกันเก็บเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองเป็นที่สนุกสนาน หลังจากนั้นบรรดาผู้เล่าผีตาโขนจะนำชุดและอุปกรณ์ที่ใช้เล่นไปทิ้งลงแม่น้ำหมัน ถือเป็นการลอยเคราะห์ให้ไหลล่องไปกับแม่น้ำ ( แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเก็บไว้ใช้ประดับบ้านหรือเก็บไว้ใช้อีกในปีหน้า )

วันที่สาม เทศน์มหาชาติ
จะเป็นการฟังเทศน์มหาชาติตั้งแต่เช้ามืดเพื่อกล่อมเกลาจิตใจและได้อานิสงส์ผลบุญอันแรงกล้า เป็นอันเสร็จพิธี

การละเล่นผีตาโขน
ผีตาโขนแต่งกายด้วยชุดที่ทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน มี "หมากกะแหล่ง" (ลักษณะคล้ายกระดิ่ง ใช้แขวนคอกระบือ) หรือกระดิ่ง กระพรวน กระป๋องผูกติดกับบั้นเอว แขวนคอ หรือถือเคาะเขย่า เพื่อให้เกิดจังหวะและมีเสียงดังเวลาเดินแบบขย่มตัว ส่ายสะโพก โยกขา และขยับเอว ผีตาโขนทุกตัวจะมีอาวุธประจำกาย เป็นดาบ หรือง้าวซึ่งทำจากไม้เนื้ออ่อนโดยจะทำให้มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายและทาสีแดงตรงปลายเอาไว้หยอกล้อเพื่อให้เกิดความตื่นเต้น ขบขัน และสนุกสนานมิได้ถือเป็นเรื่องอุจาดลามกหรือหยาบคายแต่อย่างใด

ส่วนหน้าของหน้ากากผีตาโขนทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียว นำมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก ส่วนหน้าทำจากโคนก้านมะพร้าว ถากเป็นรูปหน้ากาก แล้วเจาะช่องตา

สำหรับจมูกของผีตาโขนนั้น ในสมัยก่อนจะมีขนาดเล็กคล้ายจมูกของคนธรรมดาทั่วไป แต่ในปัจจุบันมักทำในลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง โดยทำจากไม้นุ่นซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาแกะเป็นรูปทรงต่างๆ

ส่วนเขาทำมาจากปลีมะพร้าวแห้ง นำมาตัดเป็นขนาดและรูปทรงตามที่ต้องการ การประกอบส่วนต่างๆ ของหน้ากากนั้น ส่วนหัว หน้า และเขา ก็จะใช้เชือกเย็บติดให้เข้าด้วยกัน

ส่วนจมูกจะยึดติดกับหน้ากาก โดยจะใช้ตะปูตียึดจากด้านใน การตกแต่งลวดลายต่างๆ ในปัจจุบันนิยมใช้สีน้ำมันในสมัยก่อนที่ยังไม่ใช้สีน้ำมัน จะใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ขมิ้น ปูนขาว ขี้เถ้า ปูนแดง เขม่าไฟ เมื่อตกแต่งลวดลายเสร็จแล้ว ด้านหลังจะใช้เศษผ้าเย็บต่อจากหน้ากากและหวดให้คลุมส่วนคอจนถึงไหล่

การทำหน้ากากผีตาโขนเป็นงานศิลปะพื้นบ้าน ที่ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยมีรูปแบบที่หลากหลายตามจินตนาการของผู้ทำและตามอิทธิพลต่างๆ ที่ได้รับ แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นผีตาโขนไว้ได้เป็นอย่างดี





ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต

Bookmark and Share

























ผีตาโขน เทศกาลผีตาโขน เป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม อันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย




 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]