อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า แก่งหลวง ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย
รายละเอียด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และเรียกอีกชื่อว่า วัดพระปรางค์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา บริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง ผนังภายในองค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมาก ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย และทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั่นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม กำแพงวัด เป็นศิลา และแท่นกลมขนาดใหญ่เรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 60.00 เมตร ยาว 90.00 เมตร เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอด และเหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ลักษณะพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ ในการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของ
เจดีย์ มณฑปพระอัฏฐารศ อยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบท ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลง ภายในซุ้มคูหามีพระพุทธรูปยืนอยู่ เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา วิหารพระสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์ อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องก่อทับอาคารเดิมที่ก่อด้วยอิฐ และด้านข้างทางขวาของพระวิหารได้พบฐานรอยพระพุทธบาท โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม กุฏิพระร่วงพระลือ หรือเรียกอีกชื่อว่า ศาลพระร่วงพระลือ มีลักษณะเป็นมณฑป ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง หลังคาทรงมณฑปก่ออิฐซ้อนกัน 4 ชั้น ภายในประดิษฐานรูปหล่อพระร่วงพระลือ(จำลอง)
วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม และมณฑปก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่มณฑป ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี ส่วนทางขึ้นวัดสามารถขึ้นได้ 2 เส้นทาง คือ จากด้านหน้าวัดแก่งหลวง และด้านข้างวัดซึ่งทางขึ้นได้ทำเป็นบันไดศิลาแลง ระหว่างทางขึ้นทั้งสองด้านมีศาลาที่พักด้วย
วัดเขาสุวรรณคีรี อยู่ทางทิศตะวันตก ถัดจากเขาพนมเพลิงไปประมาณ 200 เมตร โดยตั้งอยู่บนเขาอีกยอดหนึ่งในเทือกเขาเดียวกัน กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมองค์ระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงใหญ่ 5 ชั้น ใช้สำหรับเป็นลานประทักษิณ มีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน ตรงก้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาเดินจงกรมรอบก้านฉัตรเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง
วัดช้างล้อม อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ส่วนทางด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีรูปประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไปคงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์
วัดช้างล้อมที่เมืองศรีสัชนาลัยนี้ ช้างจะมีลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้
โบราณสถานภายในวัดที่ยังมีหลักฐาน คือ วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นเป็นวิหารขนาดเล็ก ๆ 2 หลัง และเจดีย์ราย 2 องค์
วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม นับว่ามีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และเป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง ส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ ส่วนซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย
วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวนัก โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป ด้านเจดีย์ประธานมีวิหาร มีมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง
วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือเรียกกันอีกชื่อว่า วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดช้างล้อม 200 เมตร กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด มีโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว วิหารมีซุ้มพระตั้งอยู่ด้านหลังลักษณะเป็นมณฑป หลังคามณฑปเป็นรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย
วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกันกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นวิหารขนาดเจ็ดห้อง ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพนม และลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้า และมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านใต้มีลวดลายปูนปั้น ลักษณะเด่น
ก็คือ ลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพนมเป็นรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
วัดชมชื่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทางกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงขนาด 6 ห้อง มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ด้านหลังพระวิหารเชื่อมต่อกับมณฑป คล้ายเป็นห้องทึบอยู่ท้ายวิหาร หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปจั่วแหลม ด้านหน้าทั้งสองข้างมณฑปทำเป็นซุ้มจรนัม 2 ซุ้ม ด้านหลังมีซุ้ม จรนัมที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันด้านหลังมณฑป
จากการขุดค้นบริเวณด้านหน้าพระวิหารพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน 15 โครง ในระดับความลึก 7-8 เมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 ถึงสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 และได้พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐที่มีขนาดใหญ่ และพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยสุโขทัย
อุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ เสียค่าธรรมเนียม ราคา 10-50 บาท และทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130 โทร. 0 5567 9211
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรี สัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 18-19 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68 กิโลเมตร หรือ รถโดยสารประจำทาง มีรถสายสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ออกจากท่ารถที่ตลาดเทศบาลไปอุทยานฯ ทุกวัน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางจากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|