พระราชวังพญาไท


พระราชวังพญาไท  
อ. ราชเทวี จ. กรุงเทพมหานคร  


รายละเอียด
ประวัติความเป็นมา
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคฤหมงคล ณ พระตำหนักใหม่ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับพักร้อนที่ทุ่งนาริมคลองพญาไท ซึ่งเคยเป็นทุ่งนาหลวงทดลองปลูกธัญพืชและประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอยู่หลายปี
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2453 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ได้เสด็จย้ายพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวังมาประทับ ณ พระตำหนักพญาไทเป็นการถาวรจนตลอดพระชนมายุ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีสวรรคตใน พ.ศ.2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักที่ประทับและอาคารบริวาร คงไว้แต่ท้องพระโรงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระราชมณเฑียรประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ มีพระที่นั่งพิมานจักรีเป็นองค์ประธาน และพระที่นั่งรองอีก 3 องค์ พระราชทานนามว่า ไวกูณฐเทพยสถาน ศรีสุทธนิวาส และอุดมวนาภรณ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 2 ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรตามพระราชประเพณี ในวันที่ 16 และ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2465 ยกขึ้นเป็นพระราชวังเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี

ณ พระราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนิพนธ์วรรณกรรมชิ้นเอกหลายเรื่อง งานด้านการปกครองที่โดดเด่น คือ ดุสิตธานี เมืองจำลองในพื้นที่ 2 ไร่เศษ ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระองค์ทรงใช้ประโยชน์ 2 ประการ คือปฏิบัติการทดลองปกครองและสอนระบอบประชาธิปไตย

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ไม่ได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับอีกต่อไป จึงได้มีการดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง โฮเต็ลพญาไทเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ส่วนหนึ่งของพระราชวังเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473

เมื่อสถานีแห่งนี้ย้ายออกไปรวมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดง ทางราชการจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ และในเดือนมกราคม พ.ศ.2489 ได้แปรสภาพกองเสนารักษ์เป็นโรงพยาบาล ต่อมากรมแพทย์ทหารบกได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถาปนาเป็นชื่อโรงพยาบาล ในนาม "โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า" ได้กระทำพิธีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ที่อยู่ : 315 ถนนราชวิถี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร.02-354-7987, 02-354-7732, 02-354-7660 ต่อ 93646, 93694 (จันทร์-ศุกร์) 93698 (เสาร์)

เว็บไซต์ : http://www.phyathaipalace.org

เวลาเปิด-ปิด : พระราชวังพญาไท เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ โดยมีวิทยากรนำชม 2 รอบ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น. วันอื่นสามารถเดินชมบริเวณภายนอกได้

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบกที่ชั้นล่างพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 11.00-15.00 น. ปิดวันเสาร์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การเดินทาง : รถประจำทาง: สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108 ปอ.92, 509, 522, 536 ปอ.พ.4 รถส่วนตัว : มีที่จอดภายในบริเวณ

ค่าใช้จ่าย : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

สิ่งที่ไม่ควรพลาด : การชมความงามทางสถาปัตยกรรมภายนอกของพระที่นั่งต่าง ๆ ชมลวดลาย ภาพวาดที่เขียนอย่างสวยงามบนเพดานและด้านบนของผนังที่ห้องสำคัญ ๆ ภายใน และอย่าลืมที่จะแวะรับทานอาหารว่าง จิบเครื่องดื่มที่ร้านกาแฟนรสิงห์ในอาคารเทียบรถพระที่นั่งที่สุดจะคลาสสิค ข้อแนะนำอื่น ๆ : โปรดช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่ สิ่งของวัตุโบราณทุกอย่างควรดูเพียงอย่างเดียว ไม่ควรไปสัมผัสแตะต้อง เพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพไว้ไม่ให้เกิดการสึกกร่อนเสียหาย
 
 





ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต

Bookmark and Share

























พระราชวังพญาไท




 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]