อุทยานแห่งชาติเขาสกมีประวัติตำนานความเป็นมาเกี่ยวข้องกับบ้านศก ซึ่งเดิมมีชื่อว่า บ้านศพ ตั้งอยู่ในตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎรธานี
อุทยานแห่งชาติเขาสก อ. พนม จ. สุราษฏร์ธานี
รายละเอียด มหัสจรรย์ดอกบัวพุด งามพิสุทธิ์เทือกหินปูน อุทยานแห่งชาติเขาสก มีประวัติตำนานความเป็นมาเกี่ยวข้องกับบ้านศก ซึ่งเดิมมีชื่อว่า “บ้านศพ” ตั้งอยู่ในตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎรธานี ต่อมาท่านขุนคีรีรัฐนิคม นายอำเภอคีรีรัฐนิคม ซึ่งในสมัยก่อนอำเภอพนม ยังเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอคีรีรัฐนิคม ได้เปลี่ยนชื่อจากศพมาเป็นศก และได้เรียกชื่อว่าศกมาจนทุกวันนี้ ที่เรียกว่าศพนั้นเนื่องจากมีเขาที่บ้านศกลูกหนึ่งรูปร่างคล้ายยักษ์นอนตาย ชาวบ้านเรียกว่า “เขาพันธุรัตน์ ” อุทยานแห่งชาติเขาสกมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนม และอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน พื้นที่ราบมีน้อย พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านทิศเหนือบริเวณคลองพระแสงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด อุทยานแห่งชาติเขาสกมี เนื้อที่ประมาณ 461,712.5 ไร่ หรือ 738.74 ตารางกิโลเมตร
ความเป็นมา : เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2519 นายอรัญ โสโน ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี และ นายธานี ภมรนิยม ป่าไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า จากการสำรวจสภาพภูมิประเทศและสภาพป่าโดยเครื่องบิน พบว่า ป่าโครงการไม้กระยาเลยคลองแสง - คลองหยี เกือบทั้งหมดเป็นภูเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะป่าบริเวณเขาสกเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกสวยงามหลายแห่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำตาปี มีสัตว์ป่า ชุกชุม อีกทั้งไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน น่าจะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1659/2519 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2519 แต่ได้รับรายงานว่า มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ในท้องที่ป่าแห่งนี้ จึงต้องระงับการสำรวจไว้ชั่วคราว จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายสู่ภาวะปกติแล้ว กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ส่ง นายวัลลภ สุคนธ์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ออกไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลอีกครั้งหนึ่งตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 345/2521 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2521 ปรากฏว่า ป่าดังกล่าวมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีจุดเด่นต่างๆ เช่น พันธุ์ไม้ที่หายาก น้ำตก ถ้ำ หน้าผา สภาพป่าสมบูรณ์ เห็นควรดำเนินการยกเลิกสัมปทานป่าโครงการแห่งนี้ จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อจะได้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป เป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวและการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2521 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้จัดป่าแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ผู้รับสัมปทานทำไม้ของป่าโครงการแห่งนี้ขอทำไม้ออกก่อน จึงจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในภายหลัง ทำให้ต้องชะลอไว้ จนกระทั่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2522 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2522 ให้กรมป่าไม้ดำเนินการประกาศหรือออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่ต่างๆ เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร่งด่วน โดยมิต้องคำนึงถึงเรื่องการทำไม้ตามสัมปทาน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ต้องการสงวนป่าไม้ไว้โดยการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้ จึงดำเนินการจัดตั้งป่าแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหยี และคลองพะแสง ในท้องที่ตำบลไกรสร ตำบลเขาพัง ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน และตำบลคลองศก ตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 403,450 ไร่ หรือ 645.52 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 197 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 22 ของประเทศ
ต่อมามีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติหลายครั้ง โดยปี พ.ศ 2526 เพิกถอนพื้นที่ประมาณ 4,887 ไร่ บริเวณน้ำท่วมและหัวงาน เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และมีการผนวกพื้นที่บริเวณพื้นที่น้ำท่วมที่เพิกถอนจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงบางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 49,875 ไร่ และในปี 2535 มีการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติให่ถูกต้อง เนื่องจากเลื่อมล้ำกับเขตสหกรณ์พนม ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าคลองหยีและคลองพะแสง ในท้องที่ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอคีรีรัฐนิคม ตำบลไกรสร ตำบลเขาพัง ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน ตำบลคลองศก ตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 32 ก ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2537 รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 461,712.50 ไร่ หรือ 738.74 ตารางกิโลเมตร
การเดินทาง การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาสก มีสองเส้นทางคือ จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี หรืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า) แยกเข้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ตรงหลักกิโลเมตรที่ 109 ไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สำหรับการเดินทางไปเขื่อนรัชชประภา ใช้เส้นทางแยกเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส.2 (แก่งเชี่ยวหลาน) ระหว่างกิโลเมตรที่ 57-58 และ เข้าสู่ไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงเขื่อนรัชชประภา สามารถนั่งเรือต่อไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำอีก 3 หน่วย
ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทาง 780 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี- ตะกั่วป่า) ระยะทาง 91 กิโลเมตรถึงปากทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ ที่กิโลเมตรที่ 109 เลี้ยวขวา ระยะประมาณ 1.5 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก ใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|