อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร แนวปะการังที่ยังคงความสมบูรณ์และสภาพธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นชายหาด และเกาะ ที่ยังคงความงดงาม
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร อ. เมือง จ. ชุมพร
รายละเอียด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย แนวปะการังที่ยังคงความสมบูรณ์และสภาพธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นชายหาด และเกาะ ที่ยังคงความงดงาม ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอปะทิว อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 317 ตารางกิโลเมตร ปี พ.ศ. 2529 สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ เชิญชวนกรมป่าไม้ให้เสนอข้อคิดเห็นในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองชุมพร ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ในจังหวัดชุมพรน่าจะได้มีการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองเพรา จังหวัดชุมพร-ระนอง ไปดำเนินการสำรวจซึ่งผลปรากฏว่า บริเวณชายหาด อ่าว และเกาะต่างๆ มีความสวยงามและอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เห็นสมควรประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและเตรียมการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในระยะแรกนี้ใช้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติหาดทรายรี " และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนกลางด้านตะวันตก ประกอบด้วยพื้นน้ำทะเล ชายหาด อ่าว ป่าชายเลน ภูเขา และเกาะน้อยใหญ่ทั้งสิ้น 40 เกาะ ขอบเขตอุทยานแห่งชาติเริ่มจากเกาะจระเข้ในเขตอำเภอปะทิว เรื่อยมาถึงบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะเสม็ด ต่อกับเกาะมะพร้าว เกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะรังกาจิว บริเวณอ่าวทุ่งคาในเขตอำเภอเมือง และหมู่เกาะน้อยใหญ่บริเวณชายฝั่งอ่าวสวี อำเภอสวี ชายฝั่งในเขตอำเภอทุ่งตะโก จนถึงอ่าวท้องครก ในเขตอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
พืชพรรณและสัตว์ป่า สังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าชายเลน เป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบที่ขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเล หรือปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ดินเป็นเลนละเอียดนุ่ม อุดมด้วยอินทรีย์วัตถุ พบตามชายฝั่งลึกเข้าไปประมาณ 200 เมตร ของบริเวณอ่าวทุ่งคา และอ่าวสวี พื้นที่รวมประมาณ 48 ตารางกิโลเมตร สภาพป่ายังคงสภาพความสมบูรณ์ พันธุ์ไม้สำคัญที่ถือเป็นไม้เด่นได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสมขาว แสมดำ ลำพู ตะบูนดำ ตะบูนขาว ตาตุ่มทะเล โปรงแดง โปรงขาว จาก ฯลฯ ไม้พื้นล่างได้แก่ เหงือกปลาหมอดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกม่วง ปรงทะเล สำมาง่า ขลู่ เถากะเพาะปลา เป็นต้น
ป่าชายหาด เป็นสังคมพืชบริเวณหาดทรายตามแนวชายฝั่งของแผ่นดินและเกาะที่คลื่นซัดขึ้นมาไม่ถึงและคลุมลึกเข้าไปบนแผ่นดินในระยะที่ระดับไอเค็มในอากาศและความเค็มของดินพอเพียง พรรณพืชในป่าชายหาดจัดเป็นพืชทนเค็ม พรรณไม้ในป่าประเภทนี้มักมีลักษณะเป็นพุ่ม ลำต้นคดงอ แตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้น ใบหนาแข็ง มีพืชที่มีหนามทั้งไม้พุ่มและไม้เถาปะปนอยู่มาก พื้นที่ประมาณ 1.6 ตารางกิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไปได้แก่ สนทะเล กระทิง โพทะเล จิกทะเล ยอป่า หูกวาง สะแก สลัดได หนามเค็ด และเตยทะเล เป็นต้น
ป่าดงดิบ เป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ พื้นป่ามักรกทึบด้วยไม้พื้นล่างและลูกไม้ มักพบในบริเวณที่มีฝนตกชุกและสม่ำเสมอเกือบตลอดปี พบได้บริเวณเขาโพลงพลาง เขาประจำเหียง เขากระทะ และตามเกาะต่างๆ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียน ยาง ตะแบก จำปา นนทรี เคี่ยม ไทร ส้าน มังตาล ยูง กะบาก ไข่เขียว บุนนาค ตาเสือ หมาก และหวายต่างๆ ฯลฯ
สังคมพืชบนหน้าผาหินปูน เป็นสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษ พบบริเวณเทือกเขาและหน้าผาหินปูน พรรณพืชมักมีขนาดเล็ก และเจริญเติบโตช้า จัดเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ หวาย เป้ง ไผ่รวก สบู่เลือด จันทน์ผา จันทน์แดง ไทร มันหมู ตับเต่า ขาไก่ และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ เป็นต้น
ในเขตพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร มีสัตว์ป่าขนาดเล็กโดยเฉพาะนกน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั้งในป่าชายเลน ป่าชายหาด และเกาะต่างๆ สัตว์ที่สามารถพบเห็นได้แก่ นกแอ่นกินรัง นกออก นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ นกนางนวลแกลบเล้ก นกยางเปีย นกยางทะเล นกยางกรอก นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกกระเต็นอกขาว นกกินเปี้ยว นกชายเลนปากแอ่น นกชายเลนปากโค้ง นกปากซ่อมหางพัด นกอีก๋อยเล้ก นกอัญชันอกเทา นกกวัก นกทะเลขาเดียว นกกะปูดใหญ่ นกกะปูดเล็ก นกตบยุงหางยาว เหี้ย ตะกวด งูเหลือม กระรอกหลากสี ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวกินแมลง ลิงแสม และสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบในป่าชายเลนได้แก่ ปลาตีน ปลาบู่ ปลากะพงแสม ปลาดุกทะเล ปลากระตักขาว ปลากะรังปากแม่น้ำ ปลากระบอก กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ กุ้งหัวมัน กุ้งตะเข็บ ปูแสม ปูก้ามดาบ ปูทะเล หอยกะทิ หอยขี้นก และหอยนางรม เป็นต้น
ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
พื้นที่รอบหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นแนวปะการังและกองหินใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตทางทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นแนวปะการังแบบแนวปะการังชายฝั่ง สามารถจำแนกได้เป็น 2 ส่วนตามระดับความลึกได้แก่ แนวปะการังน้ำตื้น พบในบริเวณเกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะกุลา เกาะละวะ เกาะรังกาจิว หินหลักอีแรด และแนวปะการังน้ำลึก พบในบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะหลักง่าม เกาะทะลุ และหินแพ
สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่พบได้แก่ ปะการังแข็ง ปะการังอ่อน ปะการังดำ ถ้วยทะเล ฟองน้ำครก ดอกไม้ทะเล แมงกระพรุน ปลาในแนวปะการัง เช่น ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลาสลิดหินสีฟ้า ปลาตาโต หอยชนิดต่างๆ เช่น หอยหน้ายักษ์ หอยเบี้ยเสือดาว หอยมือเสือ หอนหน้ายัก หอยแมงป่อง เป็นต้น สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ได้แก่ วาฬ โลมา ฉลามวาฬ กระเบนราหู และเต่าตนุ
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อถึงสี่แยกปฐมพร เลี้ยวซ้ายเข้ามาประมาณ 8 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวเมืองจังหวัดชุมพร
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|