อุทยานแห่งชาติภูแลนคามีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมือง ตำบลภูแลนคา อำเภอบ้านเขว้า ตำบลกุดชุมแสง ตำบลคูเมือง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเดื่อ ตำบลโนนกอก ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ. เมือง จ. ชัยภูมิ
รายละเอียด อุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมือง ตำบลภูแลนคา อำเภอบ้านเขว้า ตำบลกุดชุมแสง ตำบลคูเมือง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเดื่อ ตำบลโนนกอก ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ สภาพป่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น ป่าหินงามจันทร์แดง ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ผากล้วยไม้ น้ำตกตาดหินดาด น้ำตกตาดโตน ถ้ำพระ ผาเก้ง ผาแพ เป็นต้น และการเดินทางเข้าไปเที่ยวชมก็สะดวก มีเนื้อที่ประมาณ 148 ตารางกิโลเมตร หรือ 92,500 ไร่ ความเป็นมา : สภาพพื้นที่ป่าที่กำหนดเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 และ 7 มีนาคม 2535 ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ และป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศใต้ของท้องที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์จังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 2262/2539 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ได้ให้นายสุรชัย นายจำเริญ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตาดโตน ให้ไปดำเนินการสำรวจ เบื้องต้นป่าสงวนดังกล่าว เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้เข้าไปประสานงานกับทางจังหวัด ชัยภูมิ และจากการสำรวจเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรต่าง ๆ ประชาชน และรวมถึงหน่วยงานป่าไม้ประจำจังหวัดชัยภูมิ และป่าไม้เขตนครราชสีมาที่เกี่ยวข้อง
อุทยานแห่งชาติตาดโตน โดยหัวหน้าชุดสำรวจและศึกษา ได้ส่งข้อมูลการรายงานการสำรวจดังกล่าว ให้สำนักงานป่าไม้จังหวัดชัยภูมิทราบและพิจารณา ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติตาดโตน ที่ กษ 0712.320/89 ลง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งสำนักงานป่าไม้จังหวัดชัยภูมิได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นพ้องกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติตาดโตน และได้นำเรื่องราวเสนอคณะอนุกรรมการป้องกันการ ลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ ประจำจังหวัดชัยภูมิ เพื่อพิจารณาต่อไป ตามหนังสือสำนักงานป่าไม้จังหวัดชัยภูมิ ที่ ชย. 0009.2/720 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2539
ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2539 ลงวันที่ 23 กันยายน 2539 ของคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ พิจารณาเห็นชอบในการกำหนดประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วน ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศเหนือ และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 92,500 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติ ที่ กษ. 0712/พิเศษ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2539 ได้มีมติเห็นชอบและให้การสนับสนุนที่กรมป่าไม้จะประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ดังกล่าว เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร็ว และมีมติแนวความคิดเห็นตรงกัน โดยให้ชื่อหน่วยงานใหม่นี้ว่า “อุทยานแห่งชาติภูแลนคา” ด้วยเหตุผลที่ว่าแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ในเทือกเขาภูแลนคา และเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนายสถิตย์ สวินทร อธิบดีกรมป่าไม้ อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติภูแลนคา” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำรวจเป็นเทือกเขาภูแลนคา ภูเขียว ภูคำน้อย พื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และที่ราบสูง ซึ่งจะมีระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 200 ถึง 725 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะมียอดเขาที่มีความสูง 669 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมียอดภูแลนคา ซึ่งเป็นยอดที่มีความสูง สูงสุดของพื้นที่ โดยมีความสูงประมาณ 725 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ทางด้านทิศใต้จะเป็นพื้นที่ลาด ซึ่งจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 200 ถึง 500 เมตร และพื้นที่ทางด้านทิศเหนือจะเป็นพื้นที่ลาดชันมาก มีหน้าผาหุบเขาเป็นส่วนใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ จัดอยู่ในภูมิอากาศฝนเมืองร้อนมี 3 ฤดูคือ ฤดูร้อนเกิดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ฤดูฝนเกิดขึ้นช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน และฤดูหนาวเกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม ของทุกปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ป่าที่พบประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ ตะแบก พลวง แดง ชิงชัน ไม้กระยา หว้า พะยอม กะบก ตะเคียน แส้น กล้วยไม้ พะอง พีพ่าย แก้วหวาย สมุนไพรชนิดต่างๆ และหญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น
สัตว์ที่พบได้แก่ กระต่ายป่า ลิง หมูป่า กระจ้อน กระรอกบิน หนูหวาย พังพอน อีเห็น นกชนิดต่างๆ งูชนิดต่างๆ ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ และแมลงชนิดต่างๆ เป็นต้น
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยใช้เส้นทางตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดปทุมธานี อยุธยา จนถึงสระบุรี ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อโดยใช้เส้น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ผ่านอำเภอมวกเหล็ก อำเภอปากช่อง จนถึงแยกเข้าอำเภอสีคิ้ว ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส ถึงจังหวัดชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร รวมระยะทางเส้นทางหลักทั้งสิ้นประมาณ 312 กิโลเมตร หลังจากนั้นสามารถเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิ ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2051 (ชัยภูมิ-ตาดโตน) ไปประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) ไปจนถึง กม.ที่ 26 มีทางแยกซ้ายมือเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|