อุทยานแห่งชาติแม่ฝางมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง อ. ฝาง จ. เชียงใหม่
รายละเอียด อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและของป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถเดินทางเข้าไป เที่ยวได้โดยสะดวกสบาย มีเนื้อที่ประมาณ หรือ 327,500 ไร่ หรือ 524 ตารางกิโลเมตร ความเป็นมา : ในปี พ.ศ. 2511 สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจและดำเนินการตกแต่งให้เป็น สถานที่พักผ่อนในเขตท้องที่ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็น “วนอุทยานบ่อน้ำร้อน” พ.ศ. 2531
ส่วนอุทยานแห่งชาติได้จัดเจ้าหน้าที่ของส่วนอุทยานแห่งชาติ มารับงานวนอุทยาน บ่อน้ำร้อนฝาง เพื่อดำเนินการสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติลุ่มน้ำฝางเขตท้องที่อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง” มีเนื้อที่ประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ ตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าลุ่มน้ำแม่ฝางในท้องที่ ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ตำบลมะลิกา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลเวียง ตำบลแม่สูน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง และตำบลปงตำ ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/12952 ลงวันที่ 27 กันยายน 2542 แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราช-กฤษฎีกากำหนดบริเวณดังกล่าวข้างต้นแล้ว และได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแจ้งว่าพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 213 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 การทับซ้อนดังกล่าวสมควรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ดำเนินการออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกันในพื้นที่เดียวกัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือที่ กษ 0712.3/15437 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 มีความเห็นให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดดังกล่าว สำหรับการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเห็นควรดำเนินการหลังจาก พระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติประกาศใช้แล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/1169 ลงวันที่ 6 กันยายน 2543 แจ้งว่า ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดดังกล่าว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 81 ก วันที่ 4 กันยายน 2543 ให้ที่ดินป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ในท้องที่ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ตำบลมะลิกา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลเวียง ตำบลแม่สูน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง และตำบลปงตำ ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543
ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนซึ่งเป็นเทือกเขาแดนลาว ระดับความสูงในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝางประมาณ 400-2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยผ้าห่มปก ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม ดอยอ่างขาง อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ฝางเป็นแนวเทือกเขาแดนลาว จากอำเภอฝางถึงอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตพื้นที่ทิศเหนือจดสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทิศใต้จดอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ในเขตท้องที่ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกจด 5 ตำบลของอำเภอฝาง คือ ตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลแม่สูน และตำบลแม่งอน 4 ตำบลของอำเภอแม่อาย คือ ตำบลมัลลิกา ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว และตำบลท่าตอน และ 2 ตำบลของอำเภอไชยปราการ คือ ตำบลหนองบัว และตำบลปงตำ ทิศตะวันตกจดสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า
ลักษณะภูมิอากาศ สภาพอากาศโดยทั่วไปนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25 องศาเซสเซียล มีอากาศหนาวเย็นในช่วง เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 14-19 องศาเซสเซียล ส่วนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน ประมาณ 39 องศาเซสเซียล และมีฝนตกชุกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1,184 มิลลิเมตร
พืชพรรณและสัตว์ป่า สภาพป่าโดยทั่วไปยังเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ซึ่งมีพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน ตะแบก มะไฟป่า จำปีป่า มณฑาดอย อบเชย ตะแบก สัก และก่อชนิดต่างๆ ฯลฯ ที่สำคัญยังมีพรรณไม้ที่หายากของเมืองไทย อาทิ เทียนหาง พิมพ์ใจ และบัวทอง ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามบริเวณดอยผ้าห่มปก
ด้วยสภาพป่าเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งติดต่อกับพื้นที่ของประเทศพม่า จึงทำให้มีสัตว์ป่าต่างๆ ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นประจำ อีกทั้งป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เก้ง กวางป่า หมี หมูป่า เสือไฟ หมาไม้ หมีควาย หมาไน รวมทั้งนกปีกแพรสีม่วง ซึ่งมีเฉพาะป่าดิบเขาทางภาคเหนือ นกติ๊ดหัวแดง นกขัติยา นกประจำถิ่นหายาก เลียงผา อันเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของไทย และผีเสื้อที่ใกล้จะสูญพันธุ์จากเมืองไทยแล้ว คือ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล (Teinopalpus imperialis)
การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ถึงฝางแล้วไปตามถนนฝาง-ม่อนปิ่น ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. 4055 อีกประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต
|