อุทยานแห่งชาติหวงหลง(มังกรเหลือง)

‘มังกร’ ถือเป็นภูมิทัศน์เอกของอุทยานแห่งนี้ จากยอดเขาเสวี่ยเป๋าติ่ง


อุทยานแห่งชาติหวงหลง(มังกรเหลือง)

      อุทยานแห่งชาติหวงหลงอยู่ในอำเภอซงพันในเขตปกครองตนเองของชนเผ่าทิเบตอาป้าและเผ่าเชียง ทางตอนเหนือของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน)ของจีนติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติจิ่วไจ้โกว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,340 ตารางกิโลเมตร บนความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 – 5,588 เมตร ประกอบด้วยหุบเขาหวงหลง ช่องแคบหว่างเขาตันหยุน สันเขาหิมะ ยอดเขาหิมะเส่ป่า ผางามหงซินหยง หุบเขาตะวันตกซีโกว หยดถ้ำมังกรติสุ่ย รวม 7 ส่วนด้วยกัน มีเนื้อที่ทั้งหมด 700 ตารางกิโลเมตร

       อุทยานแห่งชาติหวงหลง มรดกโลกทางธรรมชาติ ปีค.ศ. 1992เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) ได้มีการก่อสร้างวัดหวงหลงขึ้น เพื่อเซ่นไหว้มังกรเหลือง แต่นั้นมา ความงดงามเป็นเอก ของธารน้ำหวงหลงจึงได้อวดสู่สายตาของชาวโลก

        ‘มังกร’ ถือเป็นภูมิทัศน์เอกของอุทยานแห่งนี้ จากยอดเขาเสวี่ยเป๋าติ่ง ด้วยความสูง 5,588 เมตร ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งนี้ ธารน้ำแข็งไหลผ่านแนวสันเขาหินปะการังสีทองลงมา กลายเป็นน้ำตกน้อยใหญ่ เมื่อถึงไหล่เขา ณ ความสูงราว 3,100 –3,600 เมตรได้กลับมารวมกันที่โตรกธารหวงหลงอีกครั้ง เกิดเป็นสระมรกตหลากสีสันกว่า 3,000 สระ บ้างก็มีขนาดใหญ่โตนับพันตารางเมตร บ้างก็มีขนาดเพียงไม่กี่ตารางเมตร  บ้างลึกบ้างตื้นทับซ้อนกัน เป็นระยะทางกว่า 3.6 กิโลเมตร เมื่อแหงนมองขึ้นไปก็จะเห็น‘มังกรเหลือง’ที่ลดเลี้ยว ขึ้นสู่หมู่เมฆบนยอดเขาหิมะ และเมื่อก้มมองเบื้องล่างก็จะพบกับ ‘สระสวรรค์ในแดนดิน’ทอดตัวอย่างสงบท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้

        จุดชมวิวที่สำคัญอยู่ที่หุบผามังกรเหลือง ซึ่งอยู่หลังวัด จะมีสระขนาดใหญ่เป็นขั้นบันได สลับกับน้ำสีเหลืองจากตะกอนแคลเซียมและเกสรดอกไม้ อยู่บนฉากหลังที่เป็นป่าสน เขาหิมะ น้ำตก ซึ่งเกิดจากธรรมชาติสรรสร้างอย่างวิจิตรพิสดาร เมื่อมองจากด้านบนจะดูเหมือนมังกรสีเหลืองขนาดมหึมา จนได้ชื่อว่า "หวงหลง" (มังกรเหลือง) หวงหลงถูกจัดเป็นมรดกโลกในปี 1992 และต่อมาปี 2000 ก็ขึ้นทำเนียบเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของโลก และเขตท่องเที่ยว และได้ขึ้นอันดับเป็นจักรวาลสีเขียวแห่งศตวรรษที่ 21 ในปี 2002

          โครงสร้างทางภูมิศาสตร์ของหวงหลงมีความซับซ้อนเป็นพิเศษ โดยตั้งอยู่บนขอบวงบรรจบของพื้นที่ทางธรณี วิทยาที่แตกต่างกันถึง 3 ลักษณะ ได้แก่ เขตที่ราบสูงของลุ่มน้ำแยงซี เขตทุ่งหญ้าซงพัน และเขตเทือกเขาฉินหลิ่ง (เส้นแบ่งเหนือใต้ทางธรรมชาติของจีน) นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตที่ราบสูงชิงจั้งในทิเบตและที่ราบต่ำในเสฉวน ก่อให้เกิดภูมิทัศน์แบบขั้นบันได ทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลักษณะทางธรณีวิทยาดังกล่าว ส่งผลให้หวงหลงกลายเป็น  ช่วงแนวเขาสุดท้ายและเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาเทือกเขาสูงจากภาคตะวันตก   ก่อน

จะเข้าสู่เขตที่ราบลุ่มภาคกลางของจีน ก่อเกิดเป็นทัศนียภาพที่น่าตื่นใจของ หุบเหวลึกนับพันเมตร ยอดเขาสูงชันที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี โตรกธารน้ำแข็งนับร้อยพันสายที่เลาะเลี้ยวไปตามหุบเขาทุกหนแห่ง อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ 3 สายของจีน ได้แก่ ลำน้ำฝูเจียง หมินเจียง และเจียหลิง (ก่อนบรรจบกันเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) นอกจากนี้ ความแตกต่างที่มาบรรจบกันยังส่งผลให้สภาพภูมิอากาศและพืชพันธุ์สัตว์ป่าที่อาศัยในถิ่นนี้ มีการผสมผสานกันระหว่างเขตเหนือใต้ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่แปลกตาหายากอีกด้วย ระหว่างเส้นทาง ธรรมชาตินี้ ยังมีแนวหินปะการังที่เกิดจากการสะสมของแคลเซี่ยมหรือหินคาร์สท์ (Kast) ที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก ปกคลุมอยู่ตลอดแนวสันเขา ผ่านเส้นทางของน้ำตกสายต่างๆ บ้างกลายเป็นสระน้อยใหญ่ ที่รองรับน้ำใสเย็น แล้วส่งผ่านลงมาเป็นชั้นๆ อันเป็นสัญลักษณ์เลื่องชื่อของอุทยานแห่งนี้

           ที่มาของหวงหลง กล่าวกันว่า สถานที่แห่งนี้ จักรพรรดิอวี่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของจักรพรรดิผู้ยิ่งยงในประวัติศาสตร์ยุคโบราณของจีนได้เคยมาบรรเทาอุทกภัยที่นี่ โดยมีพาหนะคือมังกรเหลือง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ มังกรเหลืองได้ละทิ้งวังมังกรของตนมาพำนักอยู่ยังโลกมนุษย์ และได้สร้าง        ‘สระหยก’อันงดงามนี้ขึ้น

            อย่างไรก็ตาม จากลักษณะทางกายภาพของอุทยานแห่งชาติหวงหลงที่ประกอบด้วยแนวหินสีเหลืองที่เกิดจากการจับตัวของแคลเซี่ยมแผ่คลุมอยู่โดยทั่วไปบริเวณสันเขา บ้างแปลงกายเป็นสระน้ำหลากสีสันที่ลดหลั่นเรียงตัวกันลงมาเป็นชั้นๆ เมื่อมองจากที่ห่างไกล จึงเห็นราวกับเป็นมังกรทองเหลื่อมสลับลายที่ลดเลี้ยวอยู่ท่ามกลางแมกไม้สีเขียว และเหินหาวสู่ยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี





ข้อมูลรูปภาพร้านอาหาร เอื้อเฟื้อโดย www.aroys.com ศูนย์รวมอาหารในประเทศไทยบนอินเตอร์เน็ต

Bookmark and Share

อุทยานแห่งชาติหวงหลง(มังกรเหลือง) :

Tags : อุทยานแห่งชาติหวงหลง(มังกรเหลือง) เสฉวน ประเทศจีน 

























อุทยานแห่งชาติหวงหลง(มังกรเหลือง) ‘มังกร’ ถือเป็นภูมิทัศน์เอกของอุทยานแห่งนี้ จากยอดเขาเสวี่ยเป๋าติ่ง




 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]