ในต่างประเทศมีวันแรงงานมาช้านานแล้ว
หลายประเทศกำหนดวันที่ 1 พฤษภาคม หรือ "May Day" เป็นวันแรงงาน
แต่ก็มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ถือวันอื่นเป็นวันแรงงาน
แต่โบราณในยุโรปถือว่า วันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใหม่ในทางเกษตรกรรม
จึงมีพิธีเฉลิมฉลองรื่นเริงในพิธีการนำเอาต้นไม้มาตกแต่งประดับให้สวยงาม
และสมมติคนหรือตุ๊กตาให้เป็นเทพเจ้าแห่งเกษตรขึ้น เพื่อทำการบวงสรวงบนบานขอให้ปลูกพืชได้ผลดี
ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทางภาคเหนือของยุโรปมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย
ประเพณีนี้ยังสืบทอดปฏิบัติต่อมาในชนบทของเกาะอังกฤษจนกระทั่งทุกวันนี้
จากการที่มีวันเมย์เดย์เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ
จึงถือเป็นวัรหยุดงานของคนทำงาน วันหยุดตามประเพณีของแรงงานทั่วไป
วันฉลองและวันรื่นเริงของผู้ใช้แรงงาน ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ครั้น พ.ศ. 2433 จึงมีการเรียกร้องในหลายประเทศในทางตะวันตก ให้ถือวันที่
1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ในปี พ.ศ.2433 ประเทศไทยในยุโรปหลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานในวันที่
1 พฤษภาคม และดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน ในประเทศอังกฤษ มีการฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรก
ในปี พ.ศ.2435 โดยถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานที่กรุงลอนดอน
มักจะมีการชุมนุมกันที่ไฮด์ปาร์ค
วัตถุประสงค์ของวันแรงงานที่นานาประเทศกำหนดขึ้น ก็เพื่อเป็นวันเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ
ความสะดวกสะบายในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกวันนี้ ผู้ใช้แรงงานมีส่วนสร้างขึ้นทั้งสิ้น
จึงได้ควรมีการระลึกถึงและตระหนักในความสำคัญของแรงงานพอสมควร
วันแรงงานถือเป็นเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะ การฉลองวันแรงงานทั่วๆ
ไปจะไม่นิยมแสดงออกทางการเมือง
สำหรับในประเทศไทย เมื่อระหว่าง พ.ศ.2496-2499 มีการตื่นตัวในเรื่องการก่อตั้งองค์การลูกจ้าง
ขณะนั้นกฏหมายแรงงานยังไม่มี จึงตั้งขึ้นในนามของสมาคมกรรมกรไทยและสมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย
กรรมการและผู้แทนของสมาคมเหล่านี้ มีโอกาสประชุมกิจกรรมด้านแรงงานในต่างประเทศ
และได้ความรู้ว่าหลายประเทศถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมเป็น "วันแรงงาน"
ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกวันแรงงานได้จัดให้มีการประชุมขึ้น
ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรกำหนดควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกแรงงานในประเทศไทย
จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทางราชการรับรองวันที่ 1 พฤษภาคม
เป็นวันที่ระลึกของแรงงาน ดังนั้น ในวันที่ 30 เมษายน 2499 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือเอาวันที่
1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานแห่งชาติ
ต่อมาใน พ.ศ.2500 ได้มีพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานประจำปีในวันกรรมกรแห่งชาติ
คือวันที่ 1 พฤษภาคม
พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 มีอายุได้ 18 เดือน ก็ถูกยกเลิกไป
จึงมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 เข้ามาแทนที่ โดยให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
และกำหนดวันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นผันแปรเป็นช่วงๆ
ไป จึงมีคำชี้แจงจากกระทรวงออกมาแต่ละปีเตือนให้นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่
1 พฤษภาคม แต่ขอร้องมิให้มีการเฉลิมฉลองทั้งนี้เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จนกระทั่ง พ.ศ.2517 ทางการเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปิดให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร
จึงมอบให้กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เริ่มจัดการฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี
ซึ่งมีการทำบุญตักบาตรตามประเพณีไทย มีนิทรรศการแสดงความรู้และกิจกรรมของแรงงาน
มีการอภิปราย มีการละเล่นต่างๆ และนายกรัฐมนตรีกล่าวคำปราศรัยแก่พี่น้องชาวแรงงานทั่วราชอาณาจักร
การบริหารแรงงานแต่เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยแต่ต่อมารัฐบาลเล็งเห็นว่า
ควรจะได้มีการยกระดับหน่วยงานบริหารด้านแรงงานให้มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ
เพื่อการคุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและด้อยโอกาสในสังคม
ดังนั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 จึงได้มีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
ให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น เพื่อให้การบริหารแรงงานได้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ
|