อยากปลอดเบาหวาน ต้องป้องกันตัวเอง
เบาหวานเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศไทย พอ.หญิง รศ.พญ.อภัสนี บุญญาวรกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการระวังและป้องกันโรคเบาหวาน
กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง
1.ผู้มีความเสี่ยงสูงมาก - คนที่มีกรรมพันธุ์ คือมีญาติสายตรง (บิดา มารดา พี่ น้อง บุตร) เป็นเบาหวาน - เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม เคยแท้งหรือบุตรตายตอนคลอด - ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติยังไม่ถึงขั้นเบาหวาน (ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารข้ามคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) หรือมีความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง - ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ สมองและหลอดเลือดที่เท้าตีบ - คนที่มีภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome)
2. ผู้มีภาวะเสี่ยงอื่นๆ - คนที่มีน้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน [น้ำหนัก (กก.)/ส่วนสูง (เมตร)2 > 25] - คนที่มีความดันโลหิตสูง (มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท) หรือได้รับยาลดความดันโลหิต - คนที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ตั้งแต่ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีไขมันดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร - หญิงตั้งครรภ์ทุกราย (อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 24-28 สัปดาห์) - มีอายุเกิน 35 ปี ถ้าตรวจน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารแล้วปกติให้ตรวจทุก 3 ปี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีระดับน้ำตาลเริ่มผิดปกติ แม้จะยังไม่มีอาการโรคเบาหวานชัดเจนก็ควรหมั่นตรวจสอบระดับพลาสมากูลโคสเป็นระยะทุก 1 ปี หรือควรตรวจระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังรับประทานกลูโคส 75 กรัม ซึ่งจะเพิ่มความไวในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยในผู้สูงอายุควรเลือกทำในผู้ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
สาเหตุที่ควรเลี่ยง
แม้เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเบาหวานทุกคน ถ้าพวกเขามีการระมัดระวังและไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ให้แก่ตัวเอง
- ความอ้วนและการไม่ออกกำลังกาย ซึ่งทำให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อร่างกายต่ออินซูลินไม่ดี - ผู้สูงอายุ เพราะการสังเคราะห์และการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินลดลง - ตับอ่อนได้รับความกระทบกระเทือน ได้แก่ ตับอ่อนอักเสบจากการดื่มสุรา การตัดตับอ่อนบางส่วน - การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งส่งผลให้ตับอ่อนมีจำนวนเซลล์ที่ทำงานปกติลดลง - การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นจากตับ หรือการตอบสนองของอินซูลินที่กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันไม่ดี - การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนจากรกหลายชนิด มีผลทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ไม่ดี มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ใส่ใจอาการและสัญญาณเตือน
สัญญาณเตือนของเบาหวานจะดังก็ต่อเมื่อน้ำตาลในร่างกายมีปริมาณสูงมาก หรือสูงมานานแล้ว แต่สำหรับคนทั่วไปที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะมีอาการแสดงให้เห็นขัดเจนที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดคือ มีปัสสาวะเยอะ เพื่อขับน้ำตาลออกมา พอปัสสาวะมากก็จะกระหายน้ำมาก จึงดื่มน้ำเยอะ และมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก โดยเฉพาะการปัสสาวะตอนกลางคืนถือว่าเป็นข้อสังเกตสำคัญ และเนื่องจากน้ำตาลเป็นพลังงาน พอร่างกายถูกดึงเอาพลังงานออกไป ก็จะมีอาการหิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด หรือผอม เนื่องจากร่างกายเอาน้ำตาลกูลโคสไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ส่วนบางรายที่น้ำตาลสูงนาน ก็อาจจะมีอาการตามัว มีแผลหายยาก มีมือเท้าชา
“แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะถ้าเขามีน้ำตาลสูงเล็กๆ น้อยๆ เช่น อยู่ในระดับ 140 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะอยู่ได้สบายเลย ต้องตรวจเลือดถึงจะรู้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นเบาหวานกว่าจะรู้ตัวก็มักจะช้า หรือพูดอีกอย่างก็คือ แพทย์วินิจฉัยเบาหวานช้า โดยผู้ป่วยน่าจะมีเบาหวานมานานแล้ว แต่ไม่ทราบ ด้วยเหตุนี้เมื่อแพทย์วินิจฉัยได้ ก็มักจะส่งผู้ป่วยไปตรวจตา และประเมินไต เพื่อดูว่ามีอาการแทรกซ้อนแล้วหรือยัง”
เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงก็คือ การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อดูปริมาณน้ำตาล ซึ่งถ้าปริมาณน้ำตาลที่ได้มีค่าเกินมาตรฐานคือ เกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ควรตรวจเลือดอย่างละเอียดต่อไป เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำยิ่งขึ้น
2 วิธีป้องกันตัวเอง
แม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเป็นเบาหวานได้มาก หรือทำให้การเป็นเบาหวานเกิดขึ้นช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการดูแล 2 เรื่องนี้เป็นอย่างดี
- กินอาหารอย่างเหมาะสม หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า balance diet คือพลังงานที่ร่างกายได้รับเข้าไปมีส่วนประกอบที่เหมาะสม ซึ่งสามารถคิดได้ง่ายๆ ด้วยการคำนวณน้ำหนักมาตรฐานของตัวเรา โดยผู้ชายให้เอาความสูงลบด้วย 100 ส่วนผู้หญิงลบด้วย 105 แล้วเอาน้ำหนักตัวมาตรฐานที่ได้คูณ 30 กลายเป็นพลังงานที่เราควรได้รับ เช่น ถ้าน้ำหนักมาตรฐานของเราอยู่ที่ 60 กิโลกรัม ก็เท่ากับว่าเราควรได้รับพลังงานจากการรับประทานอาหารแต่ละวันประมาณ 1800 แคลอรี ซึ่งครึ่งหนึ่ง คือ 900 แคลอรีควรเป็นหมวดข้าว แป้ง น้ำตาล โดยข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี หรือขนมปัง 1 แผ่น ขนมจีน 1 จับจะเท่ากับ 80 แคลอรี ส่วนผักผลไม้ น้ำหวานหรือน้ำชากาแฟที่มีรสหวานต่างๆ ที่กินก็ต้องนำเอามาหักออกจากหมวดนี้ โดยผลไม้ประมาณ 1 กำปั้นจะเท่ากับประมาณ 60 แคลอรี เป็นต้น แต่ผักส่วนมากโดยเฉพาะผักใบจะมีแคลอรีน้อยมากจึงรับประทานได้ในปริมาณมา ส่วน 900 แคลอรีที่เหลือก็จะเป็นหมวดไขมันกับโปรตีน ซึ่งปกติก็อาจจะกินโปรตีนได้มื้อละ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 5-6 ช้อนโต๊ะ ส่วนไขมันนั้นควรใช้น้อยๆ โดยเน้นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อาจจะมีผัดได้บ้าง แต่ควรหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ที่สำคัญควรเลือกใช้น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก แต่น้ำมันมะกอกควรใช้ทำน้ำสลัดอย่างเดียว ไม่ควรใช้ผัด ทอด เนื่องจากมีจุดเกิดควันต่ำ ส่วนน้ำมันสำหรับทอดควรใช้น้ำมันรำข้าวหรือน้ำมันปาล์ม การผัดอาจจะใช้น้ำมันถั่วเหลือง
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยในคนทั่วไปสามารถออกกำลังกายได้เลย ไม่ต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพียงแต่ว่าหากไม่เคยออกกำลังกาย ก็ควรจะค่อยๆ เริ่มด้วยการออกกำลังกายวันละ 15 นาทีแล้วค่อยๆ เพิ่มเป็น 20 นาที และทำให้ได้ถึง 30 นาทีต่อวัน โดยปัจจุบันมีการแนะนำให้ออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน หรืออย่างน้อยควรออกวันเว้นวัน แต่สำหรับคนที่ต้องการจะลดน้ำหนักจะต้องออกกำลังกายให้ได้ 45 นาทีขึ้นไปจึงจะช่วยได้ แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานถ้าจะออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งเร็วๆ หรือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเหนื่อยมาก คงต้องประเมินก่อนว่าร่างกายจะรับได้หรือไม่ ที่สำคัญผู้ป่วยเบาหวานที่อยากออกกำลังกายไม่ควรมัวแต่เป็นห่วงว่า จะทำให้น้ำตาลต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อ้วนสามารถออกกำลังกายให้น้ำตาลต่ำก่อนได้ เพื่อให้น้ำหนักลด เพราะถ้าน้ำหนักก็ไม่ลด น้ำตาลก็ไม่ลด
การปรับพฤติกรรมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
นอกจากการปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจจะต้องปรับพฤติกรรมบางอย่างดังนี้
- ถ้าชอบกินขนมจุบจิบ ต้องลด หรือเลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนอ้วนอยู่แล้ว ควรงดอย่างเด็ดขาด - น้ำ ควรดื่มแต่น้ำเปล่า หรือถ้าอยากดื่มชา ก็ขอให้เป็นชาจีนที่ไม่มีความหวาน ไม่มีน้ำตาล - หลังการกินอาหาร ขอให้เดินออกกำลังกาย เพื่อช่วยการเผาผลาญ - ที่สำคัญคือต้องควบคุมร่างกายไม่อ้วน - สำหรับคนที่ดื่มสุรา มีการวิจัยทั่วโลกแนะนำว่า ในคนที่ไม่ดื่มสุราอยู่แล้วไม่ควรเริ่มดื่ม แต่คนที่ดื่มเป็นประจำแนะนำให้ดื่มไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ต่อวันสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงก็ไม่ควรเกิน 1 ดริ๊งค์ต่อวัน (1 ดริ๊งค์=เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว หรือเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 15 กรัม) แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือไขมันสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ไม่ควรดื่ม เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้น้ำตาลในเลือดทั้งขึ้นและลง แล้วแต่ภาวะของผู้ป่วย แต่ทำให้ไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์สูงจนเป็นอันตรายได้
“เบาหวานเป็นแล้วไม่หาย แต่จะยิ่งมีอาการมากขึ้นตามจำนวนปีที่เป็น เพราะว่าตับอ่อนจะเสื่อมลง ด้วยเหตุนี้เบาหวานจึงเป็นสาเหตุของการล้างไตอันดับหนึ่ง เป็นสาเหตุของตาบอดใกล้อันดับ 1 ในเมืองไทย รวมถึงยังทำให้คุณมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน 2-4 เท่า ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารเท่าไหร่เผาผลาญให้หมด เพื่อจะได้ไม่อ้วน และช่วยหลีกเลี่ยงเบาหวานได้ถึง 50% ทีเดียว”
ถือว่าเป็นคำเตือนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทุกท่านไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง
|