เมื่อหัวใจเต้นไม่เหมือนเดิม
หัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ แล้วก็ไม่เคยหยุดเต้นอีกเลยจนกว่าเราจะตายจากไป แน่นอนเมื่อเข้าสู่วัยชรา หัวใจและอวัยวะน้อยใหญ่ก็ย่อมเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา เสื่อมมาก เสื่อมน้อย เสื่อมเร็ว เสื่อมช้า แล้วแต่การใช้งานที่ไม่สมดุล (มากเกินไปหรือน้อยเกินไป) และปัจจัยภายในภายนอกร่างกายที่ส่งเสริมสนับสนุนความเสื่อม เช่น โรคประจำตัว ความอ้วน บุหรี่ ความเครียด ความกังวล เป็นต้น
การเต้นของหัวใจในผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน ความเสื่อมตามธรรมชาติและเหตุปัจจัยทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ผิดจังหวะ ผิดไปจากเดิม ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ ผิดปกติด้านปริมาณ (เต้นช้าเกินไป หรือเร็วเกินไป) และด้านคุณภาพ (เต้นไม่สม่ำเสมอ) ปกติหัวใจผู้สูงอายุในขณะพักสบายๆ จะเต้นประมาณ 50 ถึง 100 ครั้งต่อนาที ด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอพอสมควร แต่ถ้าเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที (ซึ่งถือว่าผิดปกติด้านปริมาณ) หรือเต้นๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอ หรือแรงบ้าง เบาบ้าง ช้าบ้าง เร็วบ้าง (ผิดปกติด้านคุณภาพ) ก็ถือว่า หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งถ้ามีอาการ หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่เหมือนเดิม ต้องคลำชีพจร ฟังเสียงหัวใจ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงจะบอกได้ว่า มีการเต้นหัวใจผิดจังหวะอยู่หรือเปล่า
สัญญาณอันตราย
สัญญาณอันตรายจากโรคหัวใจที่ร้ายแรงที่สุดคือ หมดสติไม่รู้สึกตัว ถ้าเราพบผู้ที่มีอาการแสดงดังกล่าวให้รีบทำ 4 ขั้นตอนดังนี้ 1. ตั้งสติ 2. เรียกคนไข้ 3. โทรฯ 1669 4. ปั๊มหัวใจ (ดูรายละเอียดการปฏิบัติการกู้ชีวิตเบื้องต้นได้จากวีดีโอทาง YouTube:Thai BLS CPR 2010) สำหรับผู้สูงอายุเอง ถ้ามีอาการสัญญาณเตือนภัย “เหนื่อย แน่น หรือ เจ็บ” บริเวณหน้าอก โดยเกิดอาการขึ้นทันที มีอาการมากที่สุดในชีวิต (เกิดมาไม่เคยมีอาการอย่างนี้มาก่อน) มีอาการดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา แม้จะนั่งพัก หายใจเข้าออกช้าๆ สบายๆ 3-5 นาที ก็ไม่หาย ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการชัก หน้ามืด ซึม เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียน หรือวัดความดันโลหิตได้สูง หรือต่ำกว่าเดิมมาก (มากกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท) จะเป็นตอนกี่โมงกี่ยาม ก็ให้รีบโทรฯ หมายเลข 1669 สายด่วนสุขภาพ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
อาการและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้นเป็นอาการที่พบไม่บ่อย แต่เมื่อมีอาการแล้ว จะเกิดอันตราย บางครั้งถึงแก่ชีวิตได้
อาการผิดปกติที่พบบ่อย
ส่วนอาการของหัวใจเต้นผิดปกติ ผิดจังหวะในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. ใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว เต้นรัว หรือเต้นแรง ผิดไปจากเดิมเป็นพักๆ แบ่งได้เป็น ใจสั่นจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ใจสั่นจริง เช่น หัวใจเต้นช้าเกินไป เร็วเกินไป หรือเต้นผิดจังหวะ) กับ ใจสั่นจากภาวะจิตใจ (ใจสั่นเก๊ เช่น เห็นหน้าสาวสวยแล้วใจสั่น) ถ้าเราคลำชีพจรที่ข้อมือ ขณะที่มีอาการใจสั่น นับดูว่า 1 นาทีเต้นกี่ครั้ง ถ้าเต้นระหว่าง 50 ถึง 100 ครั้งต่อนาที และจังหวะการเต้นค่อนข้างสม่ำเสมอ แสดงว่าอาการใจสั่นเกิดจากจิตใจทำให้หัวใจเต้นสั่น ไม่ใช่หัวใจเต้นสั่นเพราะเป็นโรคหัวใจ แต่ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง หรือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที (หลังนั่งพักสบายๆ) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอเลย ให้รีบออกจากบ้าน ไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาล เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการใจสั่น เพราะจะบอกได้ว่า เป็นความผิดปกติอย่างไรที่หัวใจ หรือถ้าอาการหายไปแล้วก่อนไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็เคาะจังหวะการเต้นของชีพจรที่เราคลำได้ให้แพทย์ดู ก็พอจะบอกได้ว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไหน
2. เวียนหัว บางครั้งหน้าจะมืด แต่ไม่เคยหมดสติ โดยเฉพาะเวลาลุกเปลี่ยนท่าเร็วๆ ซึ่งสาเหตุอาการดังกล่าวมีมากเหตุหลายปัจจัย ถ้าอยากรู้ว่า อาการเกี่ยวข้องกับการเต้นหัวใจผิดจังหวะหรือไม่ ก็ให้คลำชีพจรที่ข้อมือขณะที่มีอาการว่า ชีพจรเต้นเร็วไป ช้าไป เต้นไม่สม่ำเสมอ ไม่ตรงจังหวะเหมือนที่เคยคลำฯ มาก่อนไหม ถ้าอาการที่เกิดกับชีพจรที่ตรวจพบผิดปกติไปด้วยกันบ่อยๆ (เวลาสบายดีไม่มีอาการ หัวใจเต้นปกติ แต่เวลามีอาการ หัวใจเต้นผิดปกติ) ก็แสดงว่า การเต้นหัวใจผิดจังหวะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ให้ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและพบแพทย์ขณะมีอาการ เพราะจะช่วยวินิจฉัยโรคได้ชัดเจนขึ้น
3. ไม่มีแรง นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน บางครั้งการเต้นหัวใจผิดจังหวะ ทำให้การทำงานของหัวใจลดลง เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง ทำให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรงได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายน้อยอยู่แล้ว แต่ก็มีเหตุปัจจัยอื่นอีกมากมาย (ทั้งกายและใจ) ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าวได้ ก็ต้องพยายามหาหลักฐานว่า อาการกับการเต้นผิดจังหวะของหัวใจผู้ป่วยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเหมือนอาการอื่นๆ ข้างต้น หรือใช้วิธีตรวจพิเศษ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดตามตลอดเวลา เพื่อช่วยหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
4. ไม่สบาย แต่บอกไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร (พูดไม่ออก บอกไม่ถูก) ก็คงต้องใช้วิธีการตรวจร่างกาย ตรวจพิเศษ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่มีอาการกับช่วงที่สบายดีว่า มีความแตกต่างกันมากพอที่จะเกิดอาการหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งอาการที่ไม่ชัดเจนเหล่านี้เป็นผลจากความเครียด อารมณ์ซึมเศร้าทางจิตใจ
สรุป การเต้นของหัวใจผิดจังหวะในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นการเต้น “ปกติ” ตามอายุที่มากขึ้นโดยไม่เกิดอาการอะไร แต่ถ้าเกิดอาการที่เราสังเกตได้ควรจะตรวจดูให้แน่ชัดว่า เป็นการเต้นผิดปกติหรือไม่ แบบใด ก่อนที่จะลุกลามเป็นอาการรุนแรงจนแก้ไขไม่ทัน
|