แม่ท้องวัยใส ระวังโรคโลหิตจาง
"อย่าละเลยปัญหาแม่ท้องวัยใส ที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะส่งผลต่อปัญหาสังคมมากมายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ โดยเฉพาะเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางและสุขภาพลูกน้อยก็ไม่แข็งแรงไปด้วยค่ะ"
น่าห่วง...เมื่อแม่วัยใสท้อง!
ในปัจจุบันเราปฏิเสธปัญหาแม่ท้องวัยใสที่เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วบางครอบครัวไม่มีแนวทางป้องกัน หรือหาทางออกไม่เจอทำให้เกิดปัญหาแม่วัยใสเป็นโรคซึมเศร้า เครียด แอบไปทำแท้ง ส่งผลต่อสุขภาพทางกายมากมาย
นอกจากนี้ หลังจากตั้งครรภ์แล้ว 70% ไม่เรียนต่อ ซึ่งตัวเลขนี้มีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่าเด็กกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมา ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ และยังขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ทำให้ผู้หญิงใช้ศักยภาพของตนเองไม่เต็มที่ กลายเป็นอีกหลาย ๆ ปัญหาในสังคม
จากงานวิจัยของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเก็บข้อมูลเด็กสาววัยรุ่น จำนวน 3,114 คน ที่มาฝากครรภ์ จากโรงพยาบาล 7 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมทั่วประเทศ พบว่ามีแม่ท้องวัยใส อายุระหว่าง 13-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 20-30เปอร์เซ็นต์ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยปัจจัยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และที่น่าสนใจคือ Social Media เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดแม่ท้องวัยใสเพิ่มมากขึ้น
แม่วัยใส...เสี่ยงโรคโลหิตจาง
ปัญหาสุขภาพที่ตามมาคือ แม่ท้องวัยใสมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางได้มากกว่าปกติ ด้วยร่างกายที่ยังไม่พร้อม ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ร่างกายขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก เมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายจะต้องผลิตเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง เกิดเป็นโรคโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ได้
โลหิตจางเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก ทำให้มีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี ไปเลี้ยงมดลูกไม่ดี มีผลต่อทารกในครรภ์ได้ หากแม่วัยใสมีภาวะโลหิตจางมาก ผลกระทบที่ตามมาคือ
มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดออกมาแล้วทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร่างกายไม่แข็งแรง ระยะการคลอดนาน ทารกอยู่ในครรภ์นานกว่าปกติ เนื่องจากมดลูกบีบรัดตัวไม่ดี หากมีภาวะรุนแรง อาจเกิดการตกเลือดระหว่างคลอด หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้
ดังนั้น การหันมาดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จะช่วยให้แม่ท้องวัยใสผ่านการท้องนี้ไปอย่างสบาย
อาการและการดูแล
แม่ท้องวัยใสที่เป็นโรคโลหิตจาง ส่วนมากมักมีอาการหน้าซีด เหนื่อยง่ายหัวใจเต้นแรงไม่สม่ำเสมอ เวียนหัว และเป็นลมบ่อย ๆ ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ควรไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อกินยาบำรุงให้เหมาะสม ที่สำคัญจะได้รับคำแนะนำเรื่องการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ดังนี้
กินอาหารที่ช่วยเพิ่มธาตุเหล็กคือ อาหารกลุ่มโปรตีนต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เครื่องในสัตว์ เต้าหู้ ถั่ว ธัญพืช ผัก และผลไม้ พักผ่อนให้เพียงพอ และไปพบคุณหมอทุกครั้งที่นัด กินยาบำรุงตามที่คุณหมอสั่ง
จริง ๆ จะท้องตอนช่วงวัยไหน คงไม่สำคัญเท่ากับความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ก่อนจะมีเจ้าตัวน้อยนะคะ เพราะเมื่อมีความพร้อม นอกจากจะทำให้ลดความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้มากแล้ว คุณแม่ที่พร้อมก็จะมีทั้งสุขภาพกายและใจที่ดีส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วยค่ะ
|