ฝังเข็ม...กำจัดฝ้า
นักวิจัยมศว เผยผลทดสอบฝังเข็มเพื่อรักษาฝ้า พบประสิทธิภาพดีกว่ายาแผนปัจจุบัน ไม่ก่อผลข้างเคียง เตรียมศึกษากลไกการออกฤทธิ์ให้ชัดเจน
การวิจัยเรื่องการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาฝ้าด้วยการฝังเข็มเปรียบเทียบกับยา Hydroquinone 3%
ปัจจุบันนี้ผู้หญิงวัยกลางและผู้ชายเองเกือบทุกเชื้อชาติต่างประสบปัญหาฝ้า (Melasma) ต้นกำเนิดไม่มีข้อมูลแน่ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่สังเคราะห์เม็ดสีในชั้นหนังกำพร้า โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตเอ บี ซึ่งผู้หญิงไทยจะประสบปัญหาฝ้ามากกว่าหญิงประเทศอื่นๆ ด้วยไทยเป็นประเทศที่แสงแดดส่องตลอดทั้งปี
“ฝ้าเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า เป็นความผิดปกติของสีผิวเนื่องจากเม็ดสีเมลานินมีปริมาณเพิ่มขึ้น จะพบเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้ม สีเทาอมน้ำตาล กระจายบนใบหน้า ที่พบบ่อยคือ แก้มทั้ง 2 ข้าง หน้าผาก บริเวณเหนือริมฝีปาก จมูก และคาง ไม่สามารถหายได้เอง และจะเข้มขึ้นถ้าไม่รักษา ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ บั่นทอนสภาพจิตใจ ขณะที่การรักษาก็ยังไม่มีวิธีการใดที่ได้ผลที่ดีที่สุด และยังมีผลข้างเคียง ปัจจุบันแพทย์โรคผิวหนังจะใช้หลายวิธี โดยมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงสาเหตุการเกิดฝ้า กับใช้ยากันแดด หรือใช้ยาลอกหน้าร่วม ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้ยาไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) 3% เพื่อเปรียบเทียบกับการฝังเข็ม"
การฝังเข็มใช้หลักการแพทย์แผนจีน เจาะหรือฝังตามผิวหนัง เพื่อป้องกันและรักษาโรค โดยใช้เข็มปักลงให้ลึกพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกได้ลมปราณ (เต๋อชี่หรือเจินก่าน) โดยผู้ที่มารักษาฝ้าจะรู้สึกตื้อๆ หนักๆ หรือเสียวบริเวณที่ถูกเข็มปัก และใช้การปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเข็มเข้าสู่ร่างกาย ช่วยกระตุ้นเข็มปรับสมดุลการทำงานของร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณ ซึ่งแนวทางการฝังเข็มเพื่อรักษาฝ้า เป็นทางเลือกน่าสนใจในผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยา
จากการทดสอบใช้การฝังเข็มรักษาฝ้าในอาสาสมัครหญิ งอายุ 35-55 ปี 56 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 28 คน กลุ่มแรกให้ทายาประเภทไฮโดรควินินความเข้มข้น 3% ซึ่งเป็นการรักษาตามแผนปัจจุบัน กลุ่มที่ 2 ใช้การฝังเข็มบริเวณร่างกายและใบหน้าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 สัปดาห์
จากการติดตามผลทุกๆ2 สัปดาห์พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ฝ้าบนใบหน้าของอาสาสมัครกลุ่มสองเริ่มจางลง และเมื่อครบ 10 สัปดาห์ หญิงที่ปริมาณฝ้าไม่มาก หายได้สมบูรณ์แบบ ขณะที่อาสาสมัครที่เป็นฝ้าลึกและเป็นมานาน ก็จางลงอย่างชัดเจน ส่วนผลข้างเคียงจากการฝังเข็มคือ รอยช้ำของเข็ม ที่หายได้ในไม่กี่วัน
"การฝังเข็มจะเป็นการปรับสมดุลในร่างกายกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณ ซึ่งการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า ระบบเลือดลมที่ไหลเวียนไม่ดี ก่อให้เกิดฝ้า ทีมวิจัยยังคงติดตามอาสาสมัครต่อไปอีก แม้จะครบกำหนด 10 สัปดาห์ไปแล้วเพื่อดูการเป็นซ้ำ แต่คาดว่าการฝังเข็มจะช่วยลดการเป็นซ้ำได้"
|