เหงื่อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น 2 อย่าง คือ ความร้อน และอารมณ์ ในทางการแพทย์ระบุว่า เหงื่อสามารถบ่งบอกอาการของโรคบางชนิดได้
ในนิตยสาร "ชีวจิต" ฉบับ พ.ย. พ.ญ.เมทินี ไชยชนะ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลฝาง จ.เชียงใหม่ อธิบายว่า โรคที่สัมพันธ์กับเหงื่อมี 2 ประเภท คือ
1.โรคที่ทำให้เหงื่อออกมาก
- เครียด เหงื่อจะออกมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ และหน้าผาก ประกอบกับมีอาการอื่นร่วม เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ใจสั่น มือสั่น
- ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ หรือ คอพอก เหงื่อจะซึมออกมาทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือทั้งสองข้าง ร่วมกับมีอาการขี้หงุดหงิด มือสั่น ขี้ตกใจ น้ำหนักลด ตาโปน ผมร่วง เหนื่อยง่าย ใจสั่น หิวน้ำบ่อย
- วัณโรค เหงื่อออกมากทั่วตัวในเวลากลางคืน สลับกับเป็นไข้ ไอเรื้อรัง
- เบาหวาน เหงื่อซึมทั่วตัว โดยเฉพาะที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ใจสั่น เหนื่อยหอบ หวิวๆ เหมือนจะเป็นลม
- โรคหัวใจ เหงื่อแตก ร่วมกับใจสั่น เหนื่อยหอบ ขณะออกกำลังกาย หากมีอาการแน่นที่คอและหน้าอก เหงื่อออกตามนิ้วมือนิ้วเท้าทุกครั้งที่ออกกำลังกาย มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูง
- ภาวะใกล้หมดประจำเดือน เนื่องจากสมองหลั่งฮอร์โมนเพศหญิง "โพรเจสเทอโรน" น้อยลง เหงื่อจะออกมากในเวลากลางคืน
2.โรคที่ทำให้เหงื่อออกน้อย
ผู้ที่เหงื่อออกน้อยผิดปกติ เนื่องจากต่อมเหงื่อทำงานบกพร่อง มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความร้อนในร่างกายสูง อาจก่อให้เกิดโรคตามมาดังนี้
- โรคผิวหนัง เช่น ผด ผื่น สะเก็ดเงิน ผิวแห้งแตกหยาบ เนื่องจากต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังถูกกดไว้จนไม่สามารถขับเหงื่อได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการอุดตันในขุมขนและเป็นโรคได้ในที่สุด
- ไมเกรน คนที่มีความเครียดเป็นทุนเดิม ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการใช้พลังงานมากกว่าปกติ หากร่างกายได้รับการกระตุ้นจนเกิดความร้อนสะสมแต่กลับไม่มีเหงื่อออกมา อาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เกิดภาวะปวดศีรษะอย่างรุนแรงจนเป็นไมเกรน
คุณหมอเมทินี เสริมว่า โรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเหงื่อใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องมีปัจจัยอื่นร่วมอีกหลายอย่าง แต่มีทางป้องกันได้ ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพตัวเอง ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ลิตร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเหงื่อของร่างกาย และเลือกสถานที่อยู่ให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือแห้งเกินไป จะช่วยป้องกันโรคอันเกิดจากต่อมเหงื่อทำงานบกพร่องได้
|