สําหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย "การคลอด" ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่น่าตื่นเต้น และบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะพบกับอะไรในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก และไม่คุ้นเคยกับสถานที่ก็ยิ่งเป็นกังวลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาหาก ระหว่างที่คุณแม่ฝากครรภ์อยู่ได้ลองหาความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมตัวคลอด
เมื่อนึกถึงบรรยากาศในห้องคลอด หลายคนคงจินตนาการได้จากประสบการณ์ตรง หรือจากฉากละครโทรทัศน์ที่มักพรรณนาถึงความรู้สึกเจ็บท้องคลอดของตัวละคร น้อยคนที่จะปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยกลัวการคลอด ในความกลัวเหล่านี้เองปัจจุบันคุณแม่หลายคนจึงเลือกแบบการทำคลอดได้ เพื่อลดความกังวลเรื่องความเจ็บปวดระหว่างคลอด แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ประเภทของการคลอดมีทั้งการผ่าท้องคลอด (Cesarean Section) และการคลอดแบบธรรมชาติ (Natural Birth หรือ Active Birth) ซึ่งคุณแม่เป็นจุดศูนย์กลางของกระบวนการคลอด โดยแพทย์หรือพยาบาลแทบจะไม่เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการเพื่อคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
การผ่อนคลายความกังวลในการคลอดนั้นทำได้หลากหลายวิธี อาทิ การศึกษาขั้นตอนในการเตรียมตัวคลอด การขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือผู้มีประสบการณ์ในการคลอด หนึ่งในนั้นหากว่าที่คุณแม่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้บรรยากาศภายในห้องคลอดก่อนก็คงทำให้คุณแม่มือใหม่อุ่นใจและพร้อมคลอดอย่างไร้กังวล
เมื่อคุณแม่ใกล้คลอดเต็มที ศีรษะของทารกจะเคลื่อนต่ำลงมาในช่องกระดูกเชิงกราน ศีรษะของเด็กจะหมุนเพื่อหันหน้ามาอยู่ทางด้านหลังของแม่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ กำลังถือกำเนิดขึ้นตามกระบวนการคลอดแบบธรรมชาติ ว่าที่คุณแม่หลายคนอาจต้องการคลอดในลักษณะนี้ เพราะถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้หญิงที่จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บท้องเบ่งคลอดเอง และยิ่งมีคนที่รักอยู่เคียงข้างด้วยแล้วคงสุขใจและอุ่นใจได้ไม่น้อย
หากนับถอยหลังก่อนการคลอด ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงแรก อาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ คือปากมดลูกบางขึ้น และเริ่มเปิดจนเปิดหมด การคลอดในลักษณะตามธรรมชาตินี้แบ่งอาการเจ็บท้องได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะเฉื่อย ระยะเร่ง และ ระยะปรับตัว เหล่านี้คือสัญญาณดีที่เตือนให้รู้ว่าเจ้าตัวน้อยใกล้ลืมตาดูโลกแล้ว
ระยะเฉื่อย อาจเริ่มมีมูกเลือดบ้างเพราะปากมดลูกเริ่มเปิด แต่ยังไม่มีน้ำเดิน ส่วนใหญ่คุณแม่มีอาการปวดท้องไม่ค่อยมาก ปวดเป็นพักๆ นาน 8-12 ชั่วโมงในท้องครั้งแรก และ 6-8 ชั่วโมงในท้องสอง ช่วงนี้ปากมดลูกเปิดประมาณ 3 เซนติเมตร คุณแม่ควรสังเกตความถี่ในการเจ็บท้องด้วย
ระยะเร่ง คุณแม่บางคนอาจเริ่มมีน้ำเดิน อาการปวดท้องมากขึ้น เพราะการหดรัดตัวของมดลูกจะแรงและถี่ขึ้นประมาณ 4-5 ครั้งต่อชั่วโมง และจะเจ็บท้องนาน 4-6 ชั่วโมงในท้องแรก และ 2-4 ชั่วโมงในท้องสอง ช่วงนี้ปากมดลูกเปิดประมาณ 4-8 เซนติเมตร ในระยะนี้อาจยังไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
บทบาทของคนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อในระยะนี้ควรประคองรับน้ำหนักคุณแม่ และหาท่าที่ทำให้รู้สึกสบายสำหรับคุณแม่ หากอยู่ในท่ายืนควรงอเข่าเล็กน้อย ป้องกันอาการตึงและล้าที่ขา ควรยืนแยกเท้าให้ห่างพอสมควรเพื่อการทรงตัวและช่วยให้กระดูกเชิงกรานผายออก
ระยะปรับเปลี่ยน เป็นระยะที่ซับซ้อนที่สุดของการคลอด เพราะปากมดลูกเปิด 8-10 เซนติเมตร และเข้าสู่การเบ่งคลอดได้ มดลูกจะหดรัดตัวนานมาก ถุงน้ำคร่ำสามารถแตกได้ ซึ่งช่วยลดอาการตึงถ่วงที่ช่องคลอด ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกอยากเบ่งคลอด ซึ่งหากเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บแสดงว่าปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ควรหยุดเบ่ง และเปลี่ยนเป็นท่าเข่าชิดหน้าอก นอกจากนี้ยังเป็นระยะที่มีการปรับเปลี่ยนของอารมณ์ด้วย บางครั้งไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
สำหรับวิธีการผ่อนคลายควรอาบน้ำด้วยฝักบัวในท่ายืน หรือนั่งช่วยบรรเทาความปวด ใช้การนวด ประคบน้ำร้อนบริเวณที่ปวด แช่น้ำอุ่นในอ่าง ใช้กลิ่นบำบัด หรือเปิดเพลงผ่อนคลาย ที่สำคัญควรให้การปลอบโยนอย่างใกล้ชิด
ในช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้าย หลังจากที่ศีรษะเคลื่อนมาอยู่ใกล้ทวารหนักและปากช่องคลอด ในที่สุดศีรษะของเด็กจะค่อยๆ เคลื่อนผ่านช่องคลอดออกมา ช่วงนี้ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อเตรียมตัวคลอด เพราะคุณแม่จะเจ็บท้องไม่เกิน 2 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก และไม่เกิน 1 ชั่วโมงในท้องหลัง ซึ่งปากมดลูกจะเปิดหมดแล้ว เป็นระยะที่เด็กเคลื่อนผ่านช่องคลอดออกมาแล้ว
หลังจากทารกคลอดแล้วมดลูกจะเริ่มหดตัวเพื่อลดขนาด และจะหดตัวต่อไปเรื่อยๆ กระบวนการนี้จะได้รับการช่วยเมื่อทารกดูดนมแม่ จากนั้นรกจะค่อยๆ ลอกออกจากผนังมดลูกและเคลื่อนลงสู่ช่องคลอด โดยปกติแล้วรกจะคลอดหลังจากการคลอดทารกประมาณ 20 นาที จากนั้นแพทย์จะตรวจสอบว่าไม่มีส่วนใดติดค้างอยู่ในโพรงมดลูกอีก
คุณแม่ควรอยู่ในท่านั่งรอระหว่างรอให้รกคลอด จะได้โอบอุ้มและมองเห็นหน้าลูกได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายขึ้น การที่คุณแม่และลูกได้สัมผัสผิวของกันและกัน ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นผ่านสัมผัสของแม่ ซึ่งช่วยในการปรับอุณหภูมิของลูกและช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกอีกด้วย
เมื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และลักษณะอาการต่างๆ ก่อนคลอดแล้วก็จะดูแลตัวเองได้ และช่วยให้คุณแม่คนใหม่รับมือกับช่วงเวลานี้อย่างมีสติและไม่ตื่นกลัวต่อไป
|