เสริมทักษะลูกได้อย่างฝัน... เมื่อรู้ทันพัฒนาการเด็ก (ไทยรัฐ)
ลูก...เปรียบเสมือนจิ๊กซอชิ้นสำคัญ ที่สามารถต่อภาพครอบครัวให้สมบูรณ์แบบได้ และในช่วงขวบปีแรกของเจ้าตัวน้อย เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมทุกศักยภาพของลูก คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ควรให้ความสนใจพัฒนาการด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกในช่วงขวบปีแรกเอาไว้ว่า พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เป็นพัฒนาการที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมาก แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน จะมีพฤติกรรมที่ไม่จำเพาะเจาะจง เรียนรู้และตอบสนองสิ่งที่อยู่ใกล้ชิด ตาเริ่มมองเห็น หูได้ยินและรับรู้สัมผัสต่างๆ ได้ เมื่ออายุ 2-4 เดือน จะเริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ใช้แขนล่างพยุงตัว ชันคอ และหันศีรษะได้ เมื่ออายุ 6 เดือน สามารถคว่ำและหงายได้เอง นั่งเองได้ชั่วครู เมื่อจับยืนน้ำหนักลงที่เท้าทั้ง 2 ข้างได้ หลังจากนั้นเมื่ออายุครบ 9 เดือน ลูกจะเริ่มนั่งได้มั่นคง คลานและเกาะยืนได้ แต่พอครบ 1 ขวบเมื่อไหร่ก็จะสามารถเกาะเดินและยืนเองได้ชั่วครู่ พัฒนาการอีกขั้นคือลูกจะกางแขนและขาเพื่อช่วยให้ทรงตัวได้ 2. การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก หาก คุณพ่อคุณแม่สังเกตจะพบว่าเด็กแรกเกิดจะกำมือแน่น แต่ต่อมาจะเริ่มกำมือแบบหลวมๆ นี่คือปฏิกิริยาหนึ่งในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เมื่ออายุได้ 4 เดือนจะเริ่มกางนิ้ว หุบนิ้ว เอามือจับกันตรงกลางได้ พอครบ 6 เดือน จะสามารถเอื้อมหยิบของได้แม่นยำ และเริ่มหยิบของเล็ก ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ถนัดเมื่ออายุประมาณ 1 ปี
คุณ พ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกได้ด้วยการดูแล เรื่องสุขภาพ และโภชนาการที่เหมาะสม จัดสถานที่เลี้ยงดูให้ลูกน้อยมีอิสระในการเคลื่อนไหว ควรเลือกของเล่นที่มีสีสันแต่ปลอดภัย เพื่อช่วยฝึกฝนทักษะการมองและการหยิบจับ แต่หากถึงวัยที่เหมาะสมกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ แล้ว แต่ลูกยังแสดงแค่ปฏิกิริยาสะท้อน แสดงว่าอาจเกิดความผิดปกติของสมอง ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ (early intervention) ซึ่งจะได้ผลดีในช่วงที่สมองอยู่ในระหว่างการเติบโตและมีความยืดหยุ่นสูง
พัฒนาการด้านการรับรู้และสังคม
ทารกแรกเกิดจะมีพัฒนาการด้านการรับรู้และสังคม เช่น การจ้องมองหน้า มองตามการเคลื่อนไหว หรือสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง เมื่ออายุ 2 เดือน จะรู้จักเลียนแบบหน้าตาและทำปากตาม สนใจฟังเสียงพูดคุย ขยับตัวตามจังหวะได้ เมื่ออายุครบ 4 เดือนจะสนใจคนหรือสิ่งของที่อยู่ไกลตัว มองตามคนคุ้นเคย ส่งเสียงอ้อแอ้ และหันมองหาแหล่งของเสียงได้ถูกต้อง เมื่ออายุ 6 เดือนจะเริ่มไขว่คว้า สำรวจสิ่งที่อยู่ในมือ แยกแยะคนแปลกหน้าได้ สามารถเข้าใจท่าทางและสำเนียง เช่น หยุดเมื่อถูกห้าม เด็กวัยนี้สามารถกินอาหารกึ่งเหลวที่ป้อนด้วยช้อนได้แล้ว และเริ่มหยิบอาหารกินเอง เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องตามแม่ได้เมื่ออายุครบ 9 เดือน พออายุครบ 1 ปี ลูกคุณจะกลายเป็นเจ้าตัวน้อยช่างสำรวจ สามารถเล่นตบมือ โบกมือได้
คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตความสามารถในการรับรู้ของลูกจากการมอง การฟัง การสัมผัสและการตอบสนอง คอยเอาใจใส่ ยิ้มแย้ม พูดคุยกับลูกอย่างอ่อนโยน ร้องเพลง ทำท่าทางให้เลียนแบบและเสริมสร้างทักษะการมอง การสัมผัส ด้วยของเล่นสีสันสดใส
พัฒนาการด้านภาษา
สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาในเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกเป็นประจำเพื่อส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางภาษา อย่างเหมาะสม น้ำเสียงที่แตกต่างกันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของการสื่อสารและความ รู้สึกแตกต่างกันไป แต่เมื่อเด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไป ควรสื่อสารด้วยภาษาที่ใช้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยให้เด็ก ได้เรียนรู้ภาษาในระยะต่อไปอย่างดี สอนหรือบอกให้เด็กทำสิ่งต่างๆ อย่างง่ายๆ พร้อมกับมีกิริยาทำท่าประกอบควบคู่กันไป จะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ต้องการผู้ใหญ่ต้องการสื่อสารได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องคอยสังเกตการตอบสนองของเด็กด้วย หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้หนังสือนิทานหรือรูปภาพมาช่วยเสริมสร้างทักษะด้าน ภาษา ก็จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้แก่เด็กได้มาก อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน
อย่างไรก็ตาม ผู้ เลี้ยงไม่ควรตั้งใจสอนให้เด็กอ่านหรือท่องจำหนังสือ หรือตัวเลขมากเกินไป เพราะการที่เด็กท่องจำได้ตามที่ถูกสอนไม่ได้หมายความ ว่าเด็กจะมีความสามารถ ในการอ่านระยะถัดไปได้ดีกว่าเด็กอื่นในวัยเดียวกัน ความ เข้าใจทางภาษาที่แตกฉานและสามารถใช้ภาษาพูดได้เป็นอย่างดีต่างหากที่จะ เป็นรากฐานที่สำคัญต่อความรู้ความเข้าใจในการอ่านหรือเขียนมากกว่า และควรเปิดโอกาสให้เด็กหยิบจับหรือหัดเปิดหนังสือเองบ้าง
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเด็กแต่ละคนมีความหลากหลาย อายุที่กล่าวไว้นั้นเป็นเพียงเกณฑ์ที่เด็กส่วนใหญ่ควรทำได้ ซึ่งหากไม่เป็นไป ตามนี้ก็อาจไม่ได้หมายถึงพัฒนาการที่ล่าช้าแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้ปกครองมีความสงสัยเรื่องพัฒนาการของบุตรหลาน ควรปรึกษากุมารแพทย์โดยตรง
|