ดูแลลูกยามป่วย เมื่อลูกเป็นหวัด เด็กที่เป็นหวัดจะมีอาการมีไข้น้ำมูกน้ำตาไหล ไอ จาม เมื่อท่านพาไปโรงพยาบาลก็จะพบว่า มีเด็กที่มีอาการเหมือนลูกท่านมากมาย บางคนอ่อนเพลียมาก งอแง เบื่ออาหาร เจ็บคอ บางรายรุนแรงมากขึ้นจนมีโรคแทรกซ้อน คือโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ในระยะเริ่มแรกเมื่อลูกเริ่มมีอาการจาม ไอ มีไข้ ตัวร้อน ก็ใช้ยารักษาตามอาการ
มีไข้ใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อมให้ขนาด (ดูจากฉลากยา) ตามอายุทุก 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะไม่ทราบว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นไข้เลือดออกหรือไม่ หากถ้าเป็นไข้เลือดออกการให้แอสไพรินจะทำให้เกิดอาการเลือดออกเร็วขึ้นและรุนแรง ทำให้มีโอกาสเสียชีวิต ใช้ยารักษาอาการจามและน้ำมูกไหล คือยาประเภทแอนตี้ฮีสตามีน ที่มีในท้องตลาดมากมาย หรือปรึกษาคุณหมอที่รักษาประจำและขอเก็บไว้สัก 1 ขวดเผื่อฉุกเฉิน จะได้ใช้เมื่อยังไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ ขนาดตามที่คุณหมอสั่งค่ะ ยาแก้ไอ ก็ควรปฏิบัติตามคุณหมอสั่งเช่นกัน
พร้อมทั้งให้งดอาบน้ำ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ดื่มน้ำอุ่นให้พอ ถ้ายังมีไข้สูงหลังจากให้ยา 24 ชั่วโมง แล้วคุณต้องพาลูกไปให้คุณหมอตรวจ อาจจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นปวดหู-หูชั้นกลางอักเสบ หรืออาจเกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวมได้ ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
- ถ้าลูกเป็นหวัดบ่อยๆ จะทำอย่างไรดี เราสังเกตว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ติดหวัดจากเพื่อนๆ โดยเฉพาะตอนโรงเรียนเปิด ให้พิจารณาดูถ้าเด็กเป็นหวัดตามปกติภายใน 1 ปี ไม่ควรเกิน 6-7ครั้ง แต่ถ้าเป็นทุกสัปดาห์ แสดงว่าหวัดนั้นมีปัญหาอื่นๆ ซ่อนอยู่ เช่น สุขภาพไม่แข็งแรง นอนน้อย หรือพักผ่อนน้อย คุณแม่คุณพ่อบางคนถึงกับย้ายโรงเรียนคิดว่าโรงเรียนแห่งมีเด็กเป็นหวัดกันบ่อยๆ เป็นสาเหตุให้ลูกติดหวัดจากเพื่อนๆ เมื่อย้ายลูกไปอยู่โรงเรียนใหม่ก็เป็นหวัดบ่อยเหมือนเดิม จึงควรพิจารณาก่อนว่าควรแก้เหตุตรงไหน อาจจะต้องปรึกษาคุณหมอที่ดูแลลูก สิ่งที่ควรทำคือ ให้อาหารลูกให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้พอเพียงให้ออกกำลังกายให้พอ พร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูก เหล่านี้จะเป็นการสร้างเสริมภูมิต้านทานของโรคของลูกให้ดีขึ้น
- ถ้าลูกเป็นหวัดเรื้อรัง ถ้าลูกมีอาการของหวัด น้ำมูกไหล จามติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เกินกว่า 3-4 สัปดาห์ อาการนี้คือหวัดเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยที่สุดคือโรคภูมิแพ้ จะพบอาการร่วมกับหวัดแล้ว ยังมีอาการคันจมูก ขยี้จมูก คันตา ตาแดง มีน้ำตาไหลร่วมด้วยหรือบางครั้งอาจเกิดจากเด็ก นำสิ่งของใส่เข้ารูจมูกเล่น เช่น ยางลบ ลูกปัด หรือกระดาษทิชชูที่ใช้เช็ดหน้า จะพบอาการสำคัญ คือเป็นอยู่ข้างเดียว มีน้ำมูกไหลจากรูจมูกข้างเดียวและอาจมีกลิ่นเหม็นด้วย การหยอดยาลดน้ำมูก บางชนิดนานเกินไป (มากกว่า 3-4 วัน) ทำให้คันจมูกมากขึ้นซึ่งเป็นปฏิกิริยาของจมูกกลายเป็นหวัดเรื้อรังได้
- การนอนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศหรือนอนเป่าพัดลม แตกต่างกันอย่างไรสำหรับหวัด เด็กที่เป็นหวัดสามารถนอนในห้องปรับอากาศได้โดยควบคุมอุณหภูมิอย่าให้เย็นจัด แต่ถ้านอนกันหลายคนควรให้อุณหภูมิปานกลาง ถ้าเด็กเป็นหวัดควรให้ใส่เสื้อผ้าให้พอเพียง อย่านอนตรงบริเวณลมเย็นเป่ามาถึงตัวโดยตรง อาการไอที่เกิดเวลานอนส่วนใหญ่เกิดจากอากาศเย็นมากเกินไป หรือมีฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศพ่นใส่ตัวเด็ก วิธีแก้ไขโดยล้างเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนฝุ่นในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน การเปลี่ยนจากห้องที่เย็นสบายมานอนห้องธรรมดาแล้วเป่าพัดลมไม่ใช่วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง
ที่นอน หมอน ไม่ควรใช้นุ่นยัดในที่นอนและหมอน ควรใช้วัสดุที่ทำจากใยสังเคราะห์ชนิดที่ตัวไร (House Dust Mite) ไม่ขึ้น รวมถึงผ้าห่มนอนด้วยควรซักเครื่องนอนบ่อยๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับผ้าปูที่นอน ส่วนปลอกหมอนควรเปลี่ยนทุก 1-2 วัน พื้นห้องเช็ดด้วยผาชุบน้ำให้สะอาดก่อนนอนครึ่งชั่วโมงทุกวัน การใช้พัดลมเป่าเวลานอนจะทำให้เป่าฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วกระตุ้นให้เด็กไอ แต่ถ้าเช็ดพื้นก่อนนอนก็จะลดจำนวนฝุ่นลงและอย่าเป่าพัดลมบริเวณศีรษะเด็ก ควรเป่าบริเวณปลายเท้าหรือทางอื่นที่ไม่โดนเด็ก
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เมื่อลูกท้องผูก อาการท้องผูก อาการท้องผูก คือเด็กไม่สามารถถ่ายอุจจาระตามปกติได้ เช่น อุจจาระแข็ง อุจจาระแห้ง อุจจาระก้อนใหญ่มากถ่ายลำบาก ตามปกติเด็กแรกเกิดมักจะถ่ายอุจจาระหลังกินนมเกือบทุกครั้ง เด็กโตหรือเด็กที่ไปโรงเรียน อาจจะถ่ายอุจจาระวันเว้นวันก็ได้
- สาเหตุของอาการท้องผูก - กินอาหารที่มีกากใย (Fiber) น้อยและดื่มน้ำน้อย - ตื่นเต้นหรือกระทบกระเทือนทางอารมณ์ - ไม่ได้เตรียมฝึกให้เด็กหัดถ่ายอุจจาระอย่างถูกต้อง ถ่ายแต่ละครั้งไม่สุดหรือไม่หมด - โรคทางระบบประสาท เช่น โรคลำไส้ใหญ่พองเพราะขาดประสาทควบคุม - มีการตีบของรูทวารหนัก
การดูแลเด็กท้องผูกในระยะแรก คือพยายามหาเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จัดการฝึกหัดให้ถ่ายอุจจาระให้ถูกต้อง ให้อาหารที่มีกากใยเพิ่มและเพิ่มน้ำดื่ม
- สำหรับเด็กทารกที่กินนมแม่ ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้ไม่ค่อยท้องผูกถ้าท้องผูกต้องพาไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะมีโรค เช่น ลำไส้ใหญ่พอง เป็นต้น
- ถ้าเด็กกินนมผสม ควรดูว่าเมื่อเพิ่มนมผงแล้วทำให้ท้องผูกหรือไม่ โดยให้แต่นมแม่อย่างเดียวจะทำให้ถ่ายเป็นปกติได้ ถ้าเพิ่มนมผงแล้วทำให้ท้องผูกต้องให้กินน้ำ 30 ซีซี. (1 ออนซ์) ตามหลังนมผสมทันที และเพิ่มปริมาณน้ำ ให้เพิ่มขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น
- เด็กทารกถึงก่อนวัยเรียน อาการท้องผูกเกิดจากการทำงานของลำไส้ไม่ปกติขาดน้ำและปัญหาการฝึกหัดขับถ่ายอุจจาระ
แก้ไขโดยการเพิ่มน้ำดื่มเป็น 8-10 ออนซ์ต่อวัน เพิ่มอาหารผักที่มีกากใย เช่น ใบตำลึง ผักกาดขาว ผลไม้และฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา เวลาเริ่มฝึกประมาณอายุ 1 ปีขึ้นไป ค่อยๆ ฝึกอย่าเร่งรีบ ข่มขู่เด็กเพราะเขาจะต่อต้าน ควรหัดให้เด็กนั่งกระโถน หาที่ขนาดเหมาะที่ให้เขานั่งแล้วใช้เท้ายันพื้น เพื่อช่วยในการเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่ถ้าเด็กยังถ่ายอุจจาระแข็ง เบ่งนาน ไม่ค่อยยอมถ่าย ควรเพิ่มน้ำดื่ม น้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่คงต้องปรึกษาแพทย์
ข้อสำคัญควรให้เด็กหัดถ่ายให้เป็นเวลา จัดให้มีการฝึกหัดถ่ายโดยสมัครใจและเพลิดเพลิน จัดเกมฝึกการถ่ายอุจจาระ ไม่บังคับ ดุว่า หรือลงโทษเด็ก แต่ถ้าท้องผูกเป็นประจำท้องมีขนาดใหญ่โต เนื่องจากลำไส้ขยายตัวคงต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ
สาเหตุที่พบบ่อยจากการทำงานของลำไส้ผิดปกติ ความเครียด ไม่ได้ฝึกหัดการถ่ายอุจจาระให้เป็นนิสัย ปัญหาทางครอบครัว บิดามารดาตีกัน เศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ ความทุกข์ยากของบิดามารดา ฯลฯ
ดูแลแก้ไขโดยควรสังเกตเมื่อเริ่มมีอาการท้องผูก ความแข็งของอุจจาระ เวลาระหว่างการถ่ายอุจจาระแต่ละครั้ง การปวดอุจจาระหลังจากถ่ายอุจจาระมีเลือดติด ปวดท้องบ่อยๆ หรือต้องพึ่งยาระบายเป็นประจำ
การใช้ยาระบายแก้ท้องผูกจะทำให้เสียวิตามินที่ละลายในน้ำมันไปด้วยคือ วิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งละลายในไขมันที่ใช้น้ำมันเป็นยาระบายแก้ท้องผูกค่ะ
การใช้เซนนาหรือใบมะขามแขกขององค์การเภสัชกรรมตามขนาดที่เขียนไว้ในฉลากยา ให้เวลาก่อนนอนในระยะ 2-3 สัปดาห์ เพื่อจัดระบบการขับถ่ายต่อไปเมื่อถ่ายได้ตามเวลาแล้วก็ค่อยๆ ลดยาลง เพื่อเด็กจะได้ถ่ายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาค่ะ
ในเด็กบางคนเนื่องจากท้องผูกเมื่อถ่ายอุจจาระแล้วจะมีแผลที่ก้นทำให้เจ็บ ควรใช้น้ำอุ่นผสมด่างทับทิมสีชมพูอ่อนๆ ให้นั่งแช่ 10 นาที หลังจากถ่ายอุจจาะเพื่อลูกจะได้ไม่เจ็บก้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โรคท้องเดิน ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง
เป็นโรคเดียวกัน เป็นโรคที่เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ในเด็ก อาการโรคนี้คือ มีอุจจาระเหลวมีน้ำมากกว่าปกติ บางคนอาเจียนร่วมด้วยทำให้เสียน้ำ และเกลือแร่จากร่างกาย อาการของเด็กจะอ่อนเพลีย ปากแห้ง หิวน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ถ่ายปัสสาวะน้อยลง ถ้าขาดน้ำมากขึ้นอาจเกิดอาการเป็นลม ช็อกไม่รู้สึกตัวถึงเสียชีวิตได้ เรียกว่าเสียชีวิตเพราะขาดน้ำ
ถ้าอาการท้องเสียยังดำเนินต่อไปทำให้เกิดอันตรายจากภาวะขาดอาหารเด็กเหล่านี้จะเบื่ออาหาร อาเจียน อาหารไม่ย่อยและดูดซึมไม่ได้ เด็กบางคนถูกสั่งให้งดอาหารมากขึ้นอีก เด็กที่ขาดอาหารเช่นนี้ มีความต้านทานต่ำกว่าปกติมาก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อทางลำไส้ ทางเดินหายใจ และทางผิวหนังทำให้เสียชีวิตได้
เด็กท้องเดิน 1 หมื่นคนอาจเสียชีวิตถึง 2 คน ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น และการให้อาหารที่เหมาะสมหลังจากอาการดีขึ้นก็จะรักษาให้เด็กกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติได้
- โรคท้องเดินคืออะไร สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เชื้อจะเข้าไปแล้ว ทำให้เกิดอาการทันที ระยะเวลาอาจเป็นหลายวันก็ได้
- โรคท้องเดินเรื้อรัง สาเหตุเกิดจากพยาธิตัวเล็ก และทำให้เกิดภาวะขาดอาหาร หรือเกิดจากภาวะขาดอาหาร ทำให้มีน้ำย่อยลดลง ย่อยอาหารไม่ได้ดีทำให้อาการของโรคดำเนินไปเรื้อรังเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน
เชื้อโรคหรือพยาธิเข้าสู่ลำไส้ทางปากแล้วเจริญเติบโตทำให้ลำไส้อักเสบแล้วพยาธิ หรือเชื้อโรคออกมากับอุจจาระกลับเข้าสู่ปากคนใหม่ โดยติดกับมือที่สัมผัสกับเชื้อโรค หรือพยาธิแล้วไม่ล้างให้สะอาด เมื่อใช้มือจับอาหารหรือเตรียมอาหาร นม น้ำ ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้รับเชื้อโรคหรือพยาธิด้วย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม เมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่ได้รับอาหารที่ปนเปื้อนจึงทำให้เกิดโรคท้องเดินขึ้น
เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีเป็นโรคท้องเดินมากกว่าช่วงอายุอื่น ทารกที่กินนมแม่จะได้รับสารคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานโรคท้องเดินจึงช่วยป้องกันโรคท้องเดินได้ เมื่อเริ่มอาหารเสริมต้องรักษาความสะอาดอย่างดี ห้ามใช้มือสกปรกป้อนข้าว ป้อนน้ำเด็ก รวมถึงการเตรียมอาหารต้องทำให้สะอาดด้วย เช่น น้ำส้มคั้น ท่านต้องล้างผลส้มเช่นเดียวกับการล้างจานให้สะอาด อาจจะใส่ด่างทับทิมละลายน้ำเป็นสีชมพูอ่อน แล้วแช่มส้มนาน 10 นาที แล้วล้างเปลือกส้มให้สะอาด เช็ดผิวให้แห้งก่อนที่จะนำไปคั้นน้ำ มิฉะนั้นท่านจะนำน้ำส้มที่เตรียมไม่สะอาดอาจมีเชื้อบิดซึ่งพบเป็นประจำในเด็กที่ได้รับน้ำส้มคั้น ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่
นอกจากนี้หัวนมยางที่เด็กดูดตกลงกับพื้นก็จะปนเปื้อนเชื้อโรคขณะนี้มีหัวนมที่มีคลิปติดอยู่กับเชือก สามารถคลิปติดกับเสื้อเด็กเมื่อไม่ดูดก็ไม่ตกลงที่พื้น เพียงแต่อย่าให้มือเด็กสกปรกและแมลงวันตอมเท่านั้นค่ะ
- การดูแลรักษาโรคท้องเดิน ถ้าท่านมีผงน้ำตาลเกลือแร่โอ.อาร์.เอส ขององค์กรเภสัชกรรม ท่านผสมตามฉลาก 1 ขวด (750 ซีซี) ใน 4 ชั่วโมงแรก ควรงดนมผสม แล้วให้ครั้งละ 2 ออนซ์ทุก 2 ชั่วโมง อย่าให้มากกว่านี้ เด็กจะกระหายมากและดูดเร็วมาก ถ้าให้มากจะทำให้เด็กอาเจียน ถ้าหลังจากนั้นไม่อาเจียน ก็สามารถให้นมเจือจางครึ่งหนึ่งของที่เคยกินและค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเด็กโตอาจจะให้โจ๊ก ข้าวต้มครั้งละน้อยๆ และบ่อยๆ แต่ถ้ายังมีอาการถ่ายอุจจาระมากขึ้นหลังจากให้น้ำเกลือแร่ หลัง 4 ชั่วโมง หรือเด็กอาเจียนมากควรต้องปรึกษาแพทย์ด่วน
- วิธีเตรียมน้ำเกลือหรืออาหารเหลวสำหรับเด็กท้องเดิน เมื่อเกิดท้องเดินให้นึกถึงน้ำเกลือและของเหลวที่เตรียมได้เองก่อน ซึ่งสามารถเตรียมเองได้ เพราะส่วนประกอบมีอยู่ในบ้านแล้ว ส่วนประกอบที่สำคัญคือ เกลือ, น้ำตาลและน้ำ, น้ำข้าว, แป้งหรือข้าวต้มเมื่อย่อยแล้วกลับเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกลือและน้ำดูดซึมเข้าร่างกายได้ดี เป็นการป้องกันมิให้ร่างกายขาดน้ำแล้วยังถ่ายอุจจาระน้อยลงด้วย
ถ้าจะใช้น้ำชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำเปล่า เช่น น้ำต้มเปลือกต้นฝรั่ง น้ำชา น้ำมะตูม ก็เป็นน้ำสมุนไพรที่รักษาท้องเดินได้ดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าเติมน้ำตาลและเกลือลงไปด้วย โดยใช้สูตรดังนี้ น้ำตาล 2 ช้อนแกง เกลือครึ่งช้อนชาหรือเท่ากับ 2 ปลายนิ้วก้อย หรือจะตวงด้วยช้อนสังกะสีเท่ากับ 2 ปลายช้อนสังกะสี
ถ้าเป็นน้ำข้าวไม่ต้องเติมน้ำตาลเพราะข้าวย่อยได้เป็นน้ำตาลอยู่แล้ว หากเกิดท้องเดิน ในช่วงที่ไม่ได้หุงข้าวหรือหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า ไม่มีน้ำข้าวให้ใช้ตวงแป้งข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว 2 ช้อนแกง (เท่ากับน้ำตาล) ต้มกวนให้สุกละลายน้ำ 1 ขวดน้ำปลา เติมเกลือ 2 ปลายช้อนเช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีแป้งก็ให้ตวงข้าวสารมา 2 ช้อนแกง ตำให้ละเอียด ต้มให้สุกละลายน้ำเป็นน้ำข้าว 1 ขวดน้ำปลา เติมเกลือ 2 ปลายช้อนเช่นเดียวกัน เด็กที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน และยังไม่เคยป้อนข้าวมาก่อน ให้ผสมน้ำเกลือที่ใส่เกลือและน้ำตาลจะดีกว่า
- การป้องกันโรคท้องเดิน 1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2. ให้อาหารเสริมที่เตรียมสะอาด 3. ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารและกินอาหาร 4. อาหารที่เตรียมสุกแล้วควรใส่ตู้กับข้าว หรือใช้ฝาชีครอบ 5. กำจัดอุจจาระลงในส้วม หรือถังเสีย โดยเฉพาะอุจจาระเด็กต้องเก็บชำระลงส้วมหรือถังเสีย เพราะอุจจารเด็กมีเชื้อโรคกระจายไปสู่คนอื่นได้ เช่นกับของผู้ใหญ่ 6. กินน้ำสะอาดหรือน้ำต้ม 7. ในช่วงอหิวาต์ระบาดไม่ควรอาบน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง
|