6 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยา

 

6 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยา
ฉีดยาดีกว่ากินยา
โดยหลักการแล้ว ยารับประทานเป็นยาที่แพทย์จะเลือกใช้เป็นลำดับแรก เพราะสามารถรักษาโรคหรือบำบัดอาการได้เกือบทั้งหมด ใช้ง่ายและสามารถติดตัวเพื่อรับประทานต่อเนื่อง สำหรับยาฉีดนั้นเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยา หรือในผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยที่ต้องการผลให้ระดับยาสูงขึ้นทันที หลังจากนั้นเมื่อคุมอาการได้ แพทย์ก็จะพิจารณาให้รับประทานยาต่อ

สิ่งที่ควรรู้ คือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากยาฉีดนั้นจะแก้ไขได้ยาก หรือรุนแรงมากกว่ายารับประทานและมีบ้างที่อาจแก้ไขไม่ทัน

ยาแพงดีกว่ายาถูก
ความเชื่อนี้ไม่จริงเสมอไป โดยเฉพาะยาปัจจุบันที่มีอยู่ในท้องตลาดเป็นส่วนใหญ่ ยาที่แพงอาจเนื่องจากมีการบวกค่าโฆษณา ค่าการค้นคว้าในอดีต และการบวกกำไรลงไปในราคายามากเป็นหลายเท่าตัว

ข้อควรปฏิบัติ คือ ควรสอบถามเภสัชกร หรือแพทย์ว่ายาดังกล่าวสามารถเชื่อถือคุณภาพได้มากน้อยเพียงใด ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาว่ายามีคุณภาพ
 
ยาตัวใหม่ดีกว่ายาตัวเก่า
ความเชื่อนี้มีส่วนจริงบ้างแต่ไม่เสมอไป ยาที่ออกใหม่หลายตัวก็มีผลการรักษาที่ไม่แตกต่างจากยาเดิม แต่ก็มียาใหม่ที่คิดค้นขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ยาเก่าใช้ไม่ได้ผล อันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนสะสมมานาน ทั้งจากด้านผู้ใช้ยาที่ใช้ไม่ถูกต้อง และผู้สั่งใช้ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือแนวทางที่ถูกต้องในการรักษา นอกจากนี้ยาใหม่อาจมีการพัฒนาเพื่อให้ใช้ได้ง่ายขึ้น ลดอาการข้างเคียงบางอย่างลง หรือทันต่อโรคใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามข้อเสียของยาใหม่คือมีข้อมูลการใช้ไม่มากพอ ผู้ใช้จึงเป็นเสมือนหนูลองยา บ่อยครั้งที่ต้องมีการถอนยาตัวนั้นออกจากตลาด หลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง เพราะความเป็นพิษรุนแรงบางชนิดทำให้พิการบางชนิดมีผลให้เสียชีวิต

สิ่งที่ควรรู้ คือ การรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นกับการวิเคราะห์อาการได้ถูกต้อง การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมความร่วมมือในการรักษา ความสามารถในการใช้ยาที่มีวิธีการใช้พิเศษ เช่น ยาพ่น และการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

เมื่ออาการหายก็ไม่ต้องรับประทานยาต่อ
ความเชื่อนี้มีทั้งที่จริงและไม่จริงยาที่รักษาอาการ เช่น ยาแก้ปวดหัว ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการหวัด ยาเหล่านี้เมื่อไม่มีอาการก็สามารถที่จะหยุดได้ แต่ยาที่มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า "ควรรับประทานติดต่อกันทุกวันจนหมด" หรือยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน จะต้องรับประทานต่อเนื่องตามขนาด และเวลาที่ระบุถึงแม้จะควบคุมอาการได้แล้วก็ตาม เพราะเป็นยาที่รักษาที่ต้นเหตุของการเจ็บป่วยนั้น มิฉะนั้นอาจทำให้เรื้อรัง ดื้อยา หรือไม่สามารถคุมอาการได้
     
ข้อควรปฏิบัติ คือ สอบถามทุกครั้งที่ได้รับยาว่ามียาขนานใดที่ต้องรับประทานตามขนาดและเวลาที่สั่งจนหมด ในทางปฏิบัติทั่วไปยาที่ให้โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อบำบัดเมื่อมีอาการเท่านั้นที่ไม่ต้องรับประทานจนหมด นอกนั้นควรรับประทานจนหมดเพื่อลดปัญหาการเก็บ และการนำกลับมาใช้ใหม่ที่อาจเป็นอันตราย

อาการเจ็บป่วยของตนนั้นต้องใช้ยาแรง ยาอ่อนไม่ได้ผล
หากไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วยแต่ละครั้งนั้นไม่ขึ้นต่อกัน การใช้ยาแต่ละครั้งจึงไม่เกี่ยวข้องกันผู้ป่วยมักได้รับการบอกจากผู้ให้บริการว่า สำหรับคุณจำเป็นที่ต้องได้รับยาแรง ยาอ่อนไม่ได้ผล หรือร้านนี้ไม่มียาอ่อน การพูดดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความเข้าใจที่ผิด และต้องการที่จะให้ผู้รับบริการเชื่อว่าได้รับยาที่ดีที่สุด และเป็นเสมือนการโฆษณาชวนเชื่อ สามารถที่จะเรียกเก็บเงินในราคาสูง ยาที่ดีที่สุดนั้นเป็นยาที่ตรงกับอาการ หรือสาเหตุจริงของการเจ็บป่วย อาการจะหายหรือไม่หายขึ้นกับความสามารถในการวิเคราะห์โรค และการเลือกยาที่เหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติ คือ บอกเล่าอาการให้ละเอียด มีประวัติการใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพร หรือการแพ้อะไร มีโรคประจำตัวหรือไม่ และสอบถามวิธีปฏิบัติข้อควรระวังในระหว่างการใช้ยานั้น
  
ยาชุดดีกว่ายาเดี่ยว
ยาชุดเป็นการจัดยาหลายขนานเข้าด้วยกันที่นับว่าเป็นเสมือนสิ่งที่ปฏิบัติต่อ เนื่องกันมาของสังคมไทย เพื่อความสะดวกในการรับประทานและง่ายต่อการจัดของผู้ป่วย สำหรับยาเดี่ยวนั้นจะบรรจุยาแต่ละชนิดแยกจากกัน ข้อดีของยาเดี่ยวคือไม่ปนเปื้อนยาบางขนานอาจให้ในเวลาที่ต่างกัน แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปจะยากในการใช้ให้ถูกต้อง ยาชุดหรือยาเดี่ยวจึงไม่แตกต่างกัน ถ้าเป็นยาที่รับประทานเวลาเดียวกันและตรงกับอาการที่เป็นจริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ ยาชุดที่มีการจัดมักจะมีการใส่ยาที่มีอันตรายมาก เช่น สเตียรอยด์ ลงไปในยาชุดโดยหวังให้กดหรือบดบังอาการชั่วคราว และจะเป็นอันตรายร้ายแรงเมื่อใช้ต่อเนื่อง
 
ข้อควรปฏิบัติ คือ หากเลี่ยงได้ให้เลี่ยงยาชุดโดยเฉพาะยาชุดที่มีการจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า และให้บอกว่าไม่ต้องการยาสเตียรอยด์                                         

ยารับประทานจะรับประทานก่อน หรือหลังอาหารก็ได้ไม่แตกต่างกัน
ความเชื่อนี้ไม่จริงเสมอไป โดยมาแล้วยารับประทานมักจะให้รับประทานหลังอาหารเพื่อสะดวกในการรับประทาน และไม่ลืมเป็นการเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา ยาหลังอาหารนั้นสามารถที่จะรับประทานหลังอาหารได้ทันที หรือภายในครึ่งชั่วโมง

สำหรับยาก่อนอาหารจะต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่ง ชั่วโมง อย่างไรก็ตามหากระบุให้รับประทานก่อนอาหารพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ก็ควรที่จะปฏิบัติตามเวลาที่รับประทานที่ถูกต้องของยาดังกล่าว เนื่องจากยาบางตัวไม่ทนกรด ยาบางตัวมีผลกัดกระเพาะ ยาบางตัวจะดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานพร้อมอาหารหรืออาหารที่มีไขมันสูง
     
สิ่งที่ควรรู้ คือ การได้รับยาที่มากกว่า 1 ขนานสามารถที่จะเกิดยาตีกันได้ (อันตรกิริยาของยา) ในบางครั้งการให้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารแยกจากกัน ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้ยาตีกันดังกล่าว จึงควรที่จะรับประทานให้ถูกต้องเพื่อผลการรักษาที่ดี และลดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้





 




 

Bookmark and Share


:: ผู้หญิงมาใหม่























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

(ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616
x [close]
x [close]