มะเร็งปากมดลูก ความจริงที่ผู้หญิงยังไม่รู้
มะเร็งปากมดลูก
ถ้าจะจัดอันดับโรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์ในโลกแล้ว “มะเร็ง” คงจัดอยู่อันดับโรคร้ายยอดฮิตของโลก หากมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายมากที่สุดในโลกแล้ว แล้วทราบหรือไม่ว่า มะเร็งที่สะสมยอดผู้หญิงได้มากที่สุดในโลก เป็นมะเร็งอะไร สำหรับคนที่ยังไม่รู้ ก็รู้ไว้เถอะค่ะ ว่าเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก นั่นหมายถึงว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดเฉพาะกับผู้หญิง และผู้หญิงทุกคนก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 6,000 คน ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต สถิติอันน่าตระหนกคือในแต่ละวันจะมีผู้หญิงตายด้วยโรคนี้ 9 คน! เชื่อว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่คงรู้จักโรคนี้กันแล้ว เพราะเป็นโรคที่ได้ยินกันมานมนาน เรียกว่าเป็นโรคคู่ผู้หญิงไทยเลย ก็ว่าได้ (ทั้งๆที่ไม่มีใครอยากคู่มันก็ตามที) แต่คุณรู้จักมันดีแค่ไหนหรือคะ คุณแน่ใจหรือว่านั่นเป็นความจริง หรืออาจจัดเป็นเพียงความเชื่อเพราะรู้แค่งูๆปลาๆ และนี่เป็นสิ่งที่ คุณอาจกำลังเชื่ออยู่จนถึงตอนนี้ และความจริงที่ผู้หญิงทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับ มะเร็งปากมดลูกค่ะ
• “มะเร็งปากมดลูกหรอ ก็เป็นโรคที่น่ากลัวนะ แค่ฉันคิดว่าฉันไม่เป็นหรอก เพราะฉันดูแลสุขภาพอย่างดี และคนในครอบครัวก็ไม่เคยมีใครเป็นมะเร็งปากมดลูกเลย” FACT : มะเร็งปากมดลูก ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์นะคะ แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งติดต่อได้ง่ายมากทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น แม้คนในครอบครัวของคุณไม่เคยมีใครเป็นมาก่อน คุณก็อาจเป็นมะเร็งปากมะลูกได้ และถึงแม้จะดูแลสุขภาพทั่วไปอย่างดีแล้วก็ตาม
• “ฉันไม่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปากมดลูกหรอก เพราะฉันก็รักเดียวใจเดียวและคู่ของฉันเป็นคนซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว ไม่มีทางที่จะไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นได้” FACT : คุณไม่สามารถทราบได้ถึงพฤติกรรมของคู่นอนตลอดเวลา รวมทั้งอดีตพฤติกรรมของคู่นอน ซึ่งถ้าหากคู่นอนของคุณเคยได้รับเชื้อจากแฟนเก่าของเขารายใดรายหนึ่ง ถึงแม้ปัจจุบันเขาจะรักเดียวใจเดียวก็ตาม คุณก็อาจจะติดเชื้อได้ จาก การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 46% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพียงคนเดียว เกิดการติดเชื้อ HPV ได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงมีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก ตราบใดที่ยังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ
• “แฟนฉันใช้ถุงยางอนามัยตลอด ไม่มีทางได้รับเชื้อเอชพีวีหรอก...” FACT : การใช้ถุงยางอนามัยสามารถการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อเอชพีวีได้ 100% นอกจากนี้ความเสี่ยงก็อาจมาจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของแต่ละคนด้วย เช่น บางคนโลดโผนโจนทะยานเกิดการกระแทกกระทั้น ทำให้บริเวณปากมดลูกเป็นแผล ฉีกขาด ง่ายต่อการติดเชื้อ แม้แต่การคลอดลูกที่เป็นสาเหตุให้ปากมดลูกมีแผลฉีกขาด ก็ง่ายต่อการติดเชื้อเอชพีวีเช่นกัน
• “ฉันเคยตรวจแพปสเมียร์แล้ว ไม่พบเชื้อ และก็ไม่เห็นมีอาการอะไรที่แสดงว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกเลย ฉันคงไม่เป็นหรอก” FACT : ความร้ายกาจของมะเร็ง ปากมดลูก คือ เชื้อจะมีระยะเวลาในการดำเนินโรคนาน 10-15 ปี ผู้หญิงจะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีความผิดปกติหรือไม่ กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว และอาจสายเกินไปที่จะรักษา
มะเร็งปากมดลูก
การตรวจแพปสเมียร์นั้น เป็นการตรวจหารอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งก็ควรไปตรวจเป็นประจำเนื่องจากมะเร็งปากมดลูกจะไม่ปรากฏอาการจนกระทั่ง เชื้อเข้าสู่ระยะลุกลาม ทั้งนี้ การป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยการฉีดวัคซีนเอชพีวี ร่วมด้วย ซึ่งวัคซีนนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุหลัก ( ถึง 70%) ที่ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อผิดปกติและอาจเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ พ่อแม่จึงควรตระหนัก และพาลูกสาวไปฉีดตั้งแต่เนิ่นๆค่ะ การพาลูกไปฉีดวัคซีนนี้ ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ลูกมีเพศสัมพันธ์เร็วแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกสาวของคุณในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เธอจะมีเพศสัมพันธ์ต่างหากค่ะ สำหรับผู้หญิงที่เลยวัยเด็ก หรือที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะฉีดวัคซีนไม่ได้นะคะ ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว มีน้อยกว่า 1% ที่พบการติดเชื้อเอชพีวีชนิด 16 และ 18 ที่ปากมดลูกพร้อมกัน ดังนั้น วัคซีนจึงสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยมีการติดมา ก่อนได้ การฉีดวัคซีนในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว จึงยังคุ้มค่าอยู่มากค่ะ
ปรับเปลี่ยนความเชื่อกันแล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วยนะ คะ ที่สำคัญ อย่าลืมบอกต่อผู้หญิงทุกคนที่คุณรักด้วยล่ะ เพราะมันช่างน่าเสียดาย ถ้าทั้งๆที่เรารู้ว่าจะป้องกันอย่างไร แต่กลับปล่อยให้ตัวเองและคนที่คุณรักเสี่ยงกับโรคร้ายนี้ต่อไป มาร่วมสัญญา ว่าฉันจะบอกต่อ จะไม่นิ่งเฉย อีกต่อไปที่ www.woenprotectwomen.com นะคะ 1 เสียงของคุณอาจจะมีค่ามากเท่าชีวิตของคนที่คุณรัก
สุดท้ายแล้ว การยึดประโยคคลาสสิกอย่าง “กัน ไว้ก่อน” ไว้ประจำใจ ย่อมดีกว่า ต้องมาเสียใจเพราะ “แก้ทีหลัง” อยู่แล้วล่ะ (หรืออาจไม่มีโอกาสแก้เลย ถ้าสิ่งที่คุณเผชิญอยู่ คือ มะเร็งปากมดลูก!)
|