ประวัติพระพิฆเนศ

ประวัติพระพิฆเนศ

ประวัติพระพิฆเนศในประเทศไทย
จากหนังสือตรีเทวปกรณ์

คติการนับถือพระพิฆเนศ น่าจะเข้ามาถึงประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 โดยเข้ามาทางภาคใต้ก่อน แต่เทวาลัยของพระพิฆเนศที่เก่าที่สุดในเมืองไทยปรากฏที่ แหล่งโบราณคดีเขาคา จ.นครศรีธรรมราช มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 12 เทวรูปพระพิฆเนศที่เก่าที่สุดก็พบทางภาคใต้ของไทย และกำหนดอายุได้ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าบรรพชนในภาคใต้ของเราในยุคดังกล่าว คงจะนับถึอพระพิฆเนศตามแบบอินเดีย คือเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค

เทวรูปพระพิฆเนศ เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถึงสมัยที่เมืองไทยเรา ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากขอม เทวรูปเหล่านี้พบในปราสาทหินหลายแห่ง ทั้งที่เป็นเทวรูปลอยองค์สำหรับบูชาภายในปราสาท และอยู่บนทับหลังหรือหน้าบันในลักษณะภาพแกะสลักนูนสูง คติการนับถือพระพิฆเนศในเมืองไทยเราช่วงนี้ น่าจะเป็นแบบเขมร คือ เป็นเทพองค์สำคัญในไศวะนิกาย คือจะต้องมีประจำในเทวสถานของลัทธินี้ รวมทั้งการบูชาในฐานะเทพแห่งอุปสรรค และเทพแห่งการประพันธ์ด้วย เพราะเท่าที่พบเทวลักษณะก็เป็นแบบเขมร คือประทับนั่งชันพระชานุข้างหนึ่งแบบมหาราชลีลาสนะ หรือประทับนั่งขัดสมาธิราบ ถ้าประทับยืนก็ประทับยืนตรงๆ ไม่ใช่ยืนเอียงพระโสณีหรือตริภังค์แบบอินเดีย

อย่างไรก็ตาม เทวรูปเหล่านี้ล้วนแต่สร้างอย่างงดงามมาก และอาจจะมีทั้งที่สร้างด้วยหินและสำริด หรือแม้แต่ทองคำ แต่ที่ตกทอดมาถึงยุคของเราส่วนมากมีแต่เป็นหินเท่านั้น ในจำนวนนี้องค์ที่เด่น ๆ ได้แก่พระคเณศทรงเครื่องจาก ปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ส่วนพระพิฆเนศจากปราสาทที่งามที่สุด อย่างเช่นปราสาทหินพนมรุ้งนั้น ปัจจุบันเราได้พบแต่ที่เป็นขนาดเล็ก

เทวลักษณะที่ประทับยืนตรงของพระพิฆเณศแบบขอม ได้ต่อเนื่องมาถึงพระพิฆเนศแบบเชียงแสน และสุโขทัยด้วย ปัจจุบันเรามีตัวอย่างของเทวรูปพระพิฆเนศแบบเชียงแสน ที่ทำอย่างงดงามหลายองค์ แต่ที่งามกว่าคือแบบสุโขทัย ซึ่งเท่าที่รู้จักกันเป็นสมบัติของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และมีการถ่ายแบบทำเป็นเทวรูปสำหรับบูชาทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 269 ซึ่งปัจจุบันก็หาดูยากแล้ว

ในสมัยสุโขทัย การนับถือพระพิฆเนศ ก็คงเป็นไปตามแบบทีได้อิทธิพลจากขอม แต่ก็น่าจะเสื่อมคลายลงมาก เพราะได้มีการให้ความสำคัญต่อศาสนาพุทธยิ่งกว่าศาสนาฮินดูที่นับถือกันมาแต่ เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาลิไท ที่ศาสนาพุทธเฟื่องฟูมาก

ล่วงถึง สมัยกรุงศรีอยุธยา ศาสนาฮินดูได้กลับมามีความสำคัญในราชสำนักอีกครั้ง มีหลักฐานว่าได้มีการหล่อพระพิฆเนศ และ พระเทวกรรม คือพระพิฆเนศในฐานะที่เป็นครูช้างขึ้นมาหลายองค์ แต่หลักฐานที่ตกมาถึงเรามีแต่เทวรูปสำริดขนาดเล็กเพียงไม่กี่องค์ และเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า รวมทั้งเทวรูปศิลาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระราชวังจันทร์เกษม เป็นต้น พระพิฆเนศได้กลับมามีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็เพราะเกี่ยวเนื่อง ด้วยการคชกรรมนี่เอง และก็ยังคงมีความสำคัญตามคติที่ได้รับจากขอม คือเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค เป็นเทพที่จะต้องบูชาก่อนอื่นในพิธีกรรมสำคัญ และเป็นเทพแห่งการประพันธ์คัมภีร์ต่าง ๆ

ส่วนคติที่นับถือพระพิฆเนศวรเป็น เทพแห่งศิลปวิทยา อันเป็นการแทนที่คติเดิมของพระสรัสวดีที่มีมาแต่อินเดียนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีในเมืองไทย จนกระทั่งผ่านพ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะใน 4 รัชกาลแรกภาพเขียนพระพิฆเนศในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม และ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือแม้แต่ภาพแกะสลักบนประตูไม้ที่ วัดเพลงวิปัสสนา บางกอกน้อย ยังเป็นเรื่องจากนารายณ์สิบปางอยู่ ภาพเหล่านี้คงมีที่มาจากตัวอย่างพระเทวรูปในตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์ ซึ่งเป็นแบบอย่างภาพลายเส้นรูปเทพเจ้าแทบทุกพระองค์ สำหรับช่างเขียนใช้เป็นต้นแบบ ตำราภาพดังกล่าวสร้างในรัชกาลที่ 3-4 และคงมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ที่เป็นหลักฐานทางเอกสาร โดยเฉพาะในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังเป็นคติเก่าที่มีอยู่ในเรื่อนารายณ์สิบปางเช่นกัน และองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น โดยส่วนพระองค์ก็ดูจะทรงนับถือพระพิฆเนศอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อเสด็จประพาสชวาก็ทรงนำพระพิฆเนศขนาดใหญ่ของที่นั่นมาด้วย (ปัจจุบันยังจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร)


ตำนานพระพิฆเนศ

ในคราวที่พระศิวะเทพ ทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตีเนื่องจากอยู่องค์เดียวเลยเกิดความเหงา และ ประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอก ที่จะเข้ามาก่อความ วุ่นวายในพระตำหนักใน จึงทรงเสกเด็กขึ้นมาเพื่อเป็นพระโอรส ที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวเทพ เสด็จออกไปตามพระกิจต่างๆมีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้น องค์ศิวเทพได้ กลับมาและเมื่อจะเข้าไปด้านใน ก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใคร และในลักษณะเดียวกัน ศิวเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่ม นั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา

เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธ และตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้ พลางถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใคร เพราะตนกำลังทำตาม บัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตก ในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้น ก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจ และศีรษะก็ถูกตัดหายไป

ในขณะนั้นเอง พระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาลก็ เสด็จออกมาด้านนอก และถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรส ที่ปราศจากศีรษะ และเมื่อได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง

เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้น องค์มหาเทพก็ทรงตรัสว่าจะทำให้ เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไป และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่งกระวนกระวายใจ เนื่องจากหากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้

เมื่อเห็นเช่นนั้น พระศิวะเลยโยนตรีศูลอาวุธของพระองค์ออกไป หาศีรษะสิ่งมีชีวิตแรก ที่พบมา และปรากฏว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมา ซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อ ให้และชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่อง ให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานนามว่า พระพิฆเนศวร ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรค และยังทรงให้พรว่าในการประกอบ พิธีการต่างๆ ทั้งหมดนั้น จะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวรก่อน เพื่อความสำเร็จของพิธีนั้น

เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆ นั้น ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้

1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต

2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี

3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด

4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล

5. หระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะ และหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง

6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับ ที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก

7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์ มหาภารตะ ให้มหาฤาษีเวทวยาสมุนี และเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสียสละ

8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่า การแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

9.ขนมโมณฑกะ หรือขนมหวานลัดดูในงวง เป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเอง เพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ ให้กับคนอื่นๆ

10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัด หมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียน และเรียกหา

11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่าน แสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ

12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะ แสดงถึงความไม่ถือองค์ และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็ก และเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ

กำเนิดพระพิฆเนศวร

คัมภีร์ปราณะได้บันทึกไว้ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 1 กล่าวถึงการกำเนิดพระพิฆเนศในฐานะเทพ และโอรสของพระแม่อุมาเทวี กับพระศิวะเทพ โดยแต่ละตำนานได้กล่าวไว้แตกต่างกัน ดังนี้

ตำนานที่หนึ่ง ปราบอสูรและรากษส

เมื่ออสูรและรากษส ทำการบวงสรวงพระศิวะเพื่อขอพรต่อพระองค์จนได้รับพร สมประสงค์ ต่อเมื่อได้ใจกลับรุกรานเหล่าเทวดา ให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว จนความถึงพระอินทร์ จึงจำต้องพาเหล่าเทวดาทั่งหลาย ไปขอเข้าเฝ้าพระศิวะเจ้า เพื่อขอให้ทรงหาหนทาง หรือผู้ที่จะปราบเหล่าอสูร และรากษสใจพาลเหล่านั้น เมื่อได้ฟังคำร้องทุกข์จากเหล่าเทวดาแล้ว พระศิวะจึงทรงแบ่งกายเป็นบุรุษรูปงาม ซึ่งจะไปถือกำเนิดในครรภ์ของพระอุมาเทวี เมื่อถึงเวลากำเนิดแล้ว พระองค์จึงทรงให้พระนามว่าพระวิฆเนศวร เพื่อทำหน้าที่ปราบอสูรและรากษสทั้งหลาย เมื่อเสร็จสิ้นการปราบอสูรแล้ว พระองค์จึงทรงมอบหมายให้พระวิฆเนศวรทรงเป็นผู้ขัดขวาง และป้องกันเหล่าผู้มีจิตใจพาลต่างๆ ที่จะมาขอพรจากพระศิวะเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทึ้งเป็นผู้คัดสรรเหล่าเทวดา และมนุษย์ผู้ทำกรรมดี และช่วยเหลือให้ค้นพบกับความสำเร็จ จากการขอพรต่อพระศิวะต่อไป

ตำนานที่สอง พระปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) ปั้นเหงื่อไหลให้เป็นพระบุตร

เมื่อคราวที่พระปารวตีสรงน้ำอยู่ในอุทยาน พระองค์ทรงนำเหงื่อไคลของพระองค์ มาปั้นเป็นหุ่นเทวบุตรรูปงาม และทรงใช้เวทย์มนต์เพื่อให้หุ่นนั้นมีชีวิตขึ้นมา จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้เทวบุตร ออกไปเฝ้ายังด้านหน้าประตูทางเข้าอุทยาน โดยได้รับสั่งว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาโดยเด็ดขาด เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดทุกครั้ง ที่พระแม่ปารวตีทรงสรงน้ำ ณ อุทยานแห่งนี้ จนกระทั่งเมื่อถึงวันกำหนดเสด็จกลับของพระศิวะ และเมื่อทั้งสองพระองค์พบกัน ในคราแรก พระศิวะก็จะเข้าไปในอุทยาน อีกฝ่ายก็ปกป้องมิให้ผู้ใดย่างกายเข้าในอุทยาน ได้ด้วยเทวบุตรทรงได้รับคำสั่งของพระปาวราตี ห้ามมิให้ผู้ใด ล่วงละเมิดเข้าไปยังสถานที่สรงน้ำแห่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนั้น พระศิวะจึงทรงสั่งให้บริวารเข้าต่อสู้ และได้สังหารเทวบุตร (แต่ในบางคัมภีร์ก็ว่าพระศิวะทรงใช้ตรีศูลตัดเศียรเทวบุตรนั้น บ้างก็ว่าพระวิษณุทรงใช้จักรตัดเศียร)

เมื่อพระปารวตีทรงพบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระองค์ทรงโกรธและโมโหพระสวามียิ่ง จนถึงกับทำศึกใหญ่ระหว่างทั้งสองพระองค์ ร้อนถึงพระฤาษีนารอด (นารท) ต้องออกรับหน้าเจรจาศึกในครานี้ โดยพระปราวตีได้กล่าวให้พระศิวะ ผู้สวามีต้องหาหนทางให้เทวบุตรฟื้นชีวิตจึงจะยอมสงบศึกให้

พระศิวะจึงทรงมีคำสั่งให้เทวดาผู้เป็นบริวารเดินทางไปทิศเหนือ และให้ตัดศรีษะของสิ่งมีชีวิตแรกที่พบ เพื่อนำมาต่อให้กับเทวบุตรผู้เป็นโอรส ไม่นานนักเทวดาก็เดินทางกลับมาพร้อมกับนำเศียรช้าง (มีงาเดียว) เพื่อมาต่อให้พระโอรส ซึ่งต่อมาจึงทรงตั้งพระนามใหม่ คือ คชานนะ (มีหน้าเป็นช้าง) และเอกทันต (ผู้มีงาเดียว) เมื่อได้ชุบชีวิตฟื้นแล้ว พระปราวตีจึงทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ฟังว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระบิดาและพระโอรส ซึ่งฝ่ายโอรสได้ฟังดังนั้นถึงกลับหมอบกราบขออภัยโทษ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตน พระศิวะทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงกับประทานพรให้พระโอรส ให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือเหล่าภูตผีทั้งปวง และทรงแต่งตั้งให้เป็น คณปติ ผู้เป็นใหญ่ในที่สุด

ตำนานที่สาม ขวางคนชั่วที่ต้องการล้างบาป ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร

ตำนานกล่าวถึงว่า พระปารวตีได้ทรงนำน้ำที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมเหงื่อไคล ปั้นเป็นเทวบุตรรูปเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรเป็นช้าง จากนั้นจึงนำน้ำจากพระคงคามาประพรมเพื่อให้มีชีวิตขึ้นมา โดยมีพระประสงค์ให้ไปขัดขวางคนชั่ว ที่จะไปบูชาศิวลึงค์ เพราะหวังที่จะล้างบาปตนเอง ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร เพื่อไม่ให้ตนตกขุมนรก

จากเรื่องเล่านี้ ทำให้ชาวฮินดูทั้งหลายนิยมนำรูปปั้นพระพิฆเนศมาจุ่มน้ำ ณ วัดคเนศจาตุรถี หรือบางครั้งก็จะนำเทวรูปเล็กๆ นำไปทิ้งตามแม่น้ำคงคาด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำจากแม่น้ำคงคา จะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง

ตำนานที่สี่ พระกฤษณะอวตาร

เล่าไว้ว่าเมื่อครั้งพระปารวตียังไม่มีโอรส พระศิวะเทพผู้สวามีจึงให้คำแนะนำว่า ให้จัดทำพิธีปันยากพรต (การบูชาพระวิษณุเทพในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนมาฆะ) โดยใช้เวลาในการทำพิธีตลอด 1 ปี ซึ่งหากทำโดยตลอดจนครบ ก็จะประสบความสำเร็จในการขอบุตร ซึ่งพระกฤษณะจะอวตารมาจุติ ต่อเมื่อทุกอย่าง เป็นไปตามคำของพระศิวะเทพแล้ว เหล่าเทพเทวดาทั้งหลาย ก็ได้มาร่วมอวยพรกับการถือกำเนิดของพระโอรสพระองค์นี้ รวมถึงเทพศนิ (พระเสาร์) ก็เข้ามาร่วมพิธีอวยพรด้วย ซึ่งพระศนิพระองค์นี้มีเรื่องกล่าวไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงเพ่งมองสิ่งใดมักจะเกิดไฟเผาผลาญสิ่งนั้นๆ จนหมดสิ้นไป

ในคราวเข้าร่วมพิธีอวยพร พระศนิก็ทรงได้ชื่นชมพระโอรส จนเผลอตนเพ่งมองพระโอรส จนเศียรของพระกุมารหลุดกระเด็นไปยังโคโลก (ที่ประทับพระกฤษณะ) พระศิวะจึงมีบัญชาให้พระวิษณุออกตามหาเศียรพระโอรส แต่ก็ไม่ทรงพบต่อมาเมื่อผ่านแม่น้ำบุษปภัทร พระวิษณุทรงแลเห็นช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรช้างนั้นนำกลับมาต่อให้พระโอรส

ตำนานที่ห้า พระศิวะ-พระปารวตีแปลงเป็นช้าง

คราหนึ่งพระศิวะ และพระปารวตีได้เสด็จไปยังภูเขาหิมาลัย ได้แลเห็นช้างกำลังสมสู่กัน จึงบังเกิดความใคร่ จากนั้นจึงทรงแปลงกายเป็นช้าง และสมสู่กันจนเกิดพระโอรส นามพระพิฆเนศ

ตำนานที่หก พระวิษณุเทพ เปล่งวาจากสิทธิ์ในพิธีโสกันต์

จากที่พระศิวะและพระปารวตีทรงจัดพิธีโสกันต์ ให้กับพระโอรสในพิธีฤกษ์คือ วันอังคารจึงได้แจ้งเชิญเทพทั้งหลายทั้งมวลมาเป็นสักขีพยาน แต่คงยังขาดเพียงองค์วิษณุเทพ ที่ทรงอยู่ระหว่างบรรทม จนเมื่อใกล้เวลาอันเป็นมงคล พระศิวะเทพจึงทรงให้พระอินทร์นำสังข์ไปเป่า เพื่อปลุกให้พระวิษณุเทพตื่นจากบรรทม เมื่อพระวิษณุเทพทรงตืนจากบรรทม ด้วยเสียงดังของสังข์ จึงทำให้พระวิษณุเทพพลั่งโอษฐ์ออกไปว่า "ไอ้ลูกหัวขาดจะนอนให้สบายก็ไม่ได้" เพียงวาจานี้ถึงกลับทำให้เศียรของพระโอรสหายไปในทันที เหล่าเทพทั้งหลายเมื่อเห็นดังนี้แล้วจึงปรึกษากันว่า วันอังคารถือเป็นฤกษ์ไม่ดีขอห้ามทำพิธีการมงคลใดๆ ทั้งมวล กลับถึงเรื่อง พระเศียรของโอรสพระศิวะเทพ จึงมีบัญชาให้พระวิษณุกรรม ไปตัดหัวมนุษย์ที่เพิ่งสิ้นชีวิต ณ ทิศตะวันตก แล้วนำกลับมาโดยเร็ว แต่ในวันนั้นหาได้มีมนุษย์ผู้ใดสิ้นอายุขัยลง พระวิษณุกรรม แลเห็นเพียงช้างพลายงาเดียวเท่านั้นที่สิ้นชีวิตลง จึงตัดหัวช้างพลายตัวนั้นกลับมาถวายพระศิวะเทพ

ในช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธกำลังเติบโตในอินเดีย มีเรื่องเล่ากล่าวในตอนนี้ว่า เมื่อเทวดานำหัวช้างมาต่อ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้พระโอรสฟื้นชีวิตได้ พระศิวะเทพจึงต้องให้พระวิษณุเทพ ไปทูลเชิญเสด็จพระศิริมานนท์อรหันต์ ให้โปรดเสด็จมาสวดพระคาถาชินบัญชร จนสำเร็จทำให้พระโอรสฟื้นชีวิต

หรือบ้างก็กล่าวว่าในพิธีโสกัณต์ พระราหูได้เตือนพระศิวะแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จึงควรทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย แต่พระศิวะเทพก็หารับฟังไม่ บ้างก็ว่าพระอังคารไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีจึงโกรธแค้น และได้ลอบตัดเศียรพระโอรสไปโยนทิ้งทะเล
























 
:: อ่านข่าว
:: รวมของฟรี
:: ซาบซ่าส์
:: ลิงค์แนะนำ

Copyright www.zabzaa.com (ซาบซ่าส์ดอทคอม)
Website Allright Reserved
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550
ทะเบียนพาณิชย์เลขที่ 0577314802616