การบูชาพระพิฆเนศ
ควรตั้งพระพิฆเนศไว้ที่ใดของบ้าน
1. การบูชาและตั้งพระพิฆเนศ ท่านเป็นเทพที่มีศักดิ์หรือตำแหน่งที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งทางพระศิวะ พระนารายณ์ พรพรหม ได้กล่าวไว้ว่า "หากการทำพิธีใดๆ โดยไม่ได้เชิญองค์พระพิฆเนศก่อนจะถือว่าพิธีนั้นๆ ไม่สมบูรณ์" ดังนั้นควรตั้งไว้ที่บนพานสีทองมีผ้าขาว(หรือผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กสีขาว) ไว้บนพานทองและนำองค์ท่านวางไว้ข้างบนผ้าผืนนั้น และให้หันหน้าองค์ท่านไปทางทิศตะวันออก หรือ ไม่ก็ทางทิศเหนือ ถ้าไม่ได้จริงๆ ถูกบังคับให้เป็นทิศใต้ก็ไม่เป็นไร ขอให้ยกเว้นทางทิศตะวันตกเนื่องจากว่า ตามโบราณกล่าวไว้ว่า ทิศตะวันตก เป็นทิศของคนตายเป็นทิศอับโชค ไม่สมควรอย่างยิ่ง ให้สังเกตุว่าเมื่อคนที่ตาย แล้วเขาจะเอาหัวหันไปทางทิศตะวันตกเสมอ ดังนั้นไม่สมควรที่จะหันท่านไปทางทิศตะวันตกครับ
2. การวางองค์พระพิฆเนศ ถ้าไม่ใส่บนพานสีทอง เนื่องจากองค์ใหญ่มาก ก็วางบนฐานไม้ก็ได้ แต่จะต้องมีผ้าขาวรองก่อนเสมอ เปรียบเสมือนกับมีอาสนะ หรือ พรม เป็นต้น บางท่านจะเอาผ้ากำมะหยี่สีแดงสด วางไว้แทนผ้าขาว เพราะความเชื่อของอินเดียว่าท่านชอบสีแดง แต่ถ้าสีขาวแปลว่าบริสุทธิ์สะอาด เป็นต้น
3. หลังจากได้มีการอันเชิญขึ้นหิ้งแล้ว หรือวางท่านที่ห้องพระ แนะนำว่าอย่ารวมกับพระองค์อื่นๆ ให้แยกออกมาต่างหากจะเป็นการดี ไม่สมควรไปตั้งลดหลั่งในชั้นหิ้งพระ ควรแยกเป็นส่วนๆ เช่น พระพุทธและพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ทางเทวรูปซึ่งเป็นทางเทพก็อีกกลุ่มหนึ่ง และ ทางพระฤาษีก็อีกกลุ่มหนึ่ง และทางเซียนคือเจ้าแม่กวนอิม ก็อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ควรรวมกันครับ ซึ่งผู้ที่เป็นก็จะจัดเป็นรูปแบบนี้ถูกต้องที่สุดครับ
4. ถ้าเปิดร้านเปิดบริษัท ควรไว้ที่สูงอันควรหันหน้าออกประตูเพิ่มเป็นศิริมงคลที่ดี ไม่ควรเอาองค์ท่านไว้บนตู้แฟ้ม ที่จะต้องเปิดตลอดสะเทือนตลอดเวลา ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าหากจะไว้ในห้องที่ทำงาน ไม่สมควรเอาท่านไว้ข้างหลังตรงกับคุณโดยเด็ดขาด เขาห้ามกัน ให้วางเฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือให้หันออกทางประตูได้ยิ่งดี เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง กันของไม่ดีเข้ามายังที่ทำงานของคุณ (ฮวงจุ้ย)
5. การตั้งวางองค์พระพิฆเนศขอให้ดูฤกษ์ยามให้ดี เช่น ให้ขึ้นหิ้งหรือโต๊ะบูชาวันพุธ (เป็นวันธงชัย) ตอนเช้าราวๆ 9 โมง ยกเว้นวันอังคาร และวันพฤหัส เป็นวันไม่ดีครับ ส่วนวันอื่นได้หมดครับ แต่วันพุธดีสุด พร้อมถวายกล้วย มะพร้าวอ่อน อ้อยควั้นหรือท่อนเล็กๆ ก็ได้ ขนมทองหยิบฝอยทอง ขนมต้มขาวต้มแดง ดอกดาวเรืองดาว พวงมาลัยมะลิกุหลาบ และธูปหอมอินเดียสีดำ ที่เป็นก้านเล็กๆ จุดบูชาและอธิฐานในวันอันเชิญ และอย่าลืมน้ำเปล่าหนึ่งแก้ว น้ำนมสดจืดหนึ่งแก้วด้วย แล้วคุณจะโชคดี เพราะท่านเป็นองค์เทพที่มีสมญานามว่า "เป็นเทพขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง" เป็นการเริ่มต้นงานใหม่จะไม่มีอุปสรรคใดๆ กับงานต่างๆ ขึ้นบ้านใหม่ ศิริมงคล เป็นต้น
6. คาถาให้สวด 9 จบตอนจุดธูปและสวดว่า " โอมศรี คะเนศายะ พระพิฆเนศราย" หรือ " โอมศรี สิทธิ คณะปะตี ยานะมะฮา" คำว่าคณะปะตี คือ คณะบดี ครับ แล้วปักธูปในกระถามธูปครับ คุณจะโชคดีตลอด ไม่มีอุปสรรคขัดข้องครับ
ขั้นตอนการบูชาพระพิฆเนศ
เพื่อการสวดบูชาให้ได้ผลสูงสุด ควรเลือกเวลาที่เงียบสงัด เช่น เช้าตรู่ หรือ ก่อนนอน จะได้ไม่มีเสียงรบกวนจากผู้อื่น
1. นำของสังเวยทั้งหมด (น้ำ นม ผลไม้ ขนมหวาน) จัดวางไว้หน้าเทวรูป หรือรูปบูชา
2. ดอกไม้ ถ้าเป็นช่อหรือดอกเดียวให้วางไว้ข้างหน้า ถ้าร้อยเป็นพวง สามารถนำไปคล้องที่พระกรหรือศาสตราวุธของเทวรูปได้
3. จุดกำยาน ธูป ประทีป เทียน (ถ้าใช้ธูป จะใช้กี่ดอกก็ได้)
4. การพนมมือ ให้พนมมือแบนราบติดกันนะครับ ไม่ใช่แบบดอกบัวตูม แล้วตั้งจิตให้สงบนิ่ง
5. เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว ให้ เริ่มสวดบูชา...
การสวดมนต์นั้น ท่านสามารถเลือกบทสวด บทอัญเชิญ หรือบทสรรเสริญ บทใดก็ได้มาหนึ่งบท หรือจะสวดหลายๆ บท ให้ต่อเนื่องกันก็ยิ่งดีครับ
ในเบื้องต้นสำหรับการบูชาพระพิฆเนศนั้น คาถาบูชาที่ส่วนใหญ่นิยมคือ โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา (Om Shri Ganesha Yanamaha) อ่านออกเสียงตามแบบอินเดียว่า โอม ชรี กาเนชา ยะนะมะฮะ แต่ถ้ามีเวลาในการสวดบูชา แนะนำให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ โดยท่องบทเดียวกันให้วนไปเรื่อยๆ จะเป็น 108 จบก็ดี หรือจะเปิดเพลงขณะบูชาด้วยก็ดีครับ (สามารถโหลดเพลงได้ที่หน้าแรก) ควรศึกษาและจำบทสวดมนต์ให้ได้หลายๆ บท เพื่อประโยชน์ในการทำสมาธิขณะสวดมนต์ หรือการสักการะในโบสถ์ วัด เทวาลัยต่างๆ
6. ถวายไฟ หรือการทำ อารตี หากไม่สะดวกใช้ตะเกียงอารตี (ต้องใช้สำลีชุบน้ำมัน) สามารถถวายไฟแบบใช้เทียน หรือ การบูร ให้นำใส่ถาดแล้วจุดไฟ ยกขึ้นหมุนวนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) 3 รอบ ต่อหน้าองค์เทวรูป หรือรูปภาพเทพที่เราบูชา แล้วใช้ฝ่ามืออังไฟ แล้วมาแต่ที่หน้าผาก เพื่อให้เกิดความสว่างแก่จิตและดวงปัญญา หรือแตะบริเวณอื่นๆ ที่เป็นโรคเจ็บป่วย
7. ขอพรตามประสงค์
จากนั้นให้กล่าวคำว่า "โอม ศานติ...ศานติ...ศานติ" เพื่อขอความสันติให้บังเกิด เป็นอันเสร็จสิ้น
8. ลาเครื่องสังเวย
ถ้าจุดเทียน สามารถเป่าเทียนให้ดับได้เลย เพื่อป้องกันอัคคีภัย (ใช้เทียนเล่มเดิมนี้ จุดบูชาในวันต่อไปได้เรื่อยๆ จนเทียนหมด)
ถ้าจุดธูปหรือกำยาน ต้องรอให้หมดดอก จึงจะลาเครื่องสังเวยได้
นำเครื่องสังเวยต่างๆ ยกขึ้นจรดหน้าผาก แล้วกล่าวว่า "...โอม..."
เพื่อขออนุญาตลาเครื่องสังเวย อย่าทิ้งอาหารไว้ให้เน่านะครับ
น้ำเปล่า - สามารถนำมาล้างหน้าหรือแต้มหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคล
นมสด - หากถวายเป็นกล่องหรือขวด ก็นำมาดื่มได้เลย
หากถวายเป็นแก้วเล็กๆ ก็ให้เททิ้งครับ ปล่อยไว้ค้างคืนจะทำให้นมบูด (บางคนดื่มแล้วท้องเสียครับ)
ผลไม้และขนม - ยกออกมาใส่จาน เพื่อมาแบ่งกันทานในครอบครัว ถือเป็นอาหารทิพย์
(ไม่ควรทานทั้งๆที่อยู่ในจานหรือถาดสำหรับถวาย เพราะห้ามใช้ปนกับของท่านนะครับ)
9. ทำความสะอาด จาน แก้วน้ำ เชิงเทียน แท่นกำยาน ฯลฯ แล้วเก็บไว้ในที่เฉพาะ
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.siamganesh.com/
|